บรั่นดี

สุราที่ได้จากการกลั่นไวน์

บรั่นดี (อังกฤษ: brandy ย่อมาจาก บรั่นดีไวน์ (brandywine) จากภาษาดัตช์ว่า brandewijn) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการกลั่นของการหมักน้ำผลไม้ต่าง ๆ หรือไวน์ต่างๆ เช่นองุ่น แอปเปิ้ล แต่เมื่อผลิตจากผลไม้อื่นก็จะเรียกชื่อตามผลไม้นั้น ๆ แต่ถ้าผลิตจากองุ่นก็จะเรียกบรั่นดี กรรมวิธีการผลิตโดยการหมักน้ำองุ่นแล้วนำมาต้มกลั่น แล้วนำไปบ่มต่อในถังโอ๊คซึ่งจะทำให้แอลกอฮอล์ที่มีอยู่เดิมลดลง และเมื่อยิ่งบ่มไว้นานแอลกอฮอล์ก็จะลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ บรั่นดีบางตัวเมื่อบ่มเกิน 50 ปีขึ้นไปจะมีแอลกอฮอล์ลดลงต่ำกว่า 40 ดีกรี และเมื่อบรรจุขวดก็จะมีแอลกอฮอล์เพียง 36 ดีกรี อันจะทำให้บรั่นดีนั้นมีความพิเศษเฉพาะ และมีความสุขุม นุ่มนวลจากการเก็บบ่มอันยาวนานนั่นเอง ชื่อบรั่นดีนั้นจะใช้เรียกสำหรับเหล้าที่ผลิตจากองุ่น บรั่นดีอาจจะผลิตจากผลไม้อื่น ๆ ก็ได้ซึ่งก็จะใช้ชื่อผลไม้นั้นเรียกแตกต่างกันไป บรั่นดีหลาย ๆ ตัว ไม่ได้มีการหมักบ่มในถังโอ๊ค อันเนื่องจากลักษณะเฉพาะตัว เช่นสีใส รวมถึงบรั่นดีบางชนิดที่ไม่ได้ผลิตจากองุ่นที่ต้องการคงไว้ซึ่งรสชาติ กลิ่น อโรมาของตัวเอง

บรั่นดี

ในบางประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศส[1][2] ในแคว้นคอนญัก (Cognac) อมายัค (Armagnac) และ ควาลวาดอส (Calvados) ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการผลิตบรั่นดีมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งบรั่นดีสามารถผลิตที่ไหนในโลกตราบใดเท่าที่ใช้องุ่นเป็นวัตถุดิบ เช่นที่ Douro valley ในประเทศโปรตุเกส Jerez de la Frontera ในประเทศสเปน

คอนญัก (Cognac) ซึ่งเป็นบรั่นดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ซึ่งหลาย ๆ คนไม่เข้าใจความแตกต่างของชื่อคอนญัก (Cognac) และบรั่นดี (Brandy) ให้เข้าใจง่าย ๆ คอนญักก็คือบรั่นดี ซึ่งต้องผลิตจากองุ่นที่ปลูกในแคว้นคอนญัก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งรวมถึงกระบวนการผลิตก็จะต้องผลิตในคอนญักเช่นเดียวกัน คอนญักโดยส่วนหลักผลิตจากองุ่นพันธุ์แซง เอมีลียง (Saint-Émilion) คอนญักจะบ่มทั้งในถังไม้โอ๊คเก่าและใหม่ โดยจะเปลี่ยนถ่ายจากถังใหม่สู่ถังเก่าเพื่อหมักบ่มต่อซึ่งจะได้กลิ่นและรสอันขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ของถังที่นำมาใช้บ่ม ระยะเวลาบ่มในขั้นตอนนี้ก็จะทำให้ได้คอนญักชนิดต่าง ๆ ดังนี้ ชนิดธรรมดาที่มีชื่อเรียกว่า VS (very superior) เป็นคอนญักสามดาว และเป็นคอนญักในระดับธรรมดา มีอายุการบ่มไม่มากประมาณ 3-5 ปี ชนิดดีที่มีชื่อเรียกว่า VSOP (very special old pale) จะมีสีที่เข้มกว่า ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มสัญลักษณ์ตัวอักษรเพิ่มเข้าไปอีกเช่น F (fine) X (extra) คอนญักนี้จะมีอายุการหมักบ่มจากที่ประมาณ 7-10 ปี ซึ่งจะมีรสชาติที่สุขุม นุ่มนวล กลิ่นจรุง มากกว่าระดับสามดาว ชนิดพิเศษที่ผ่านการหมักบ่มอันยาวนาน ที่มีน้อยและราคาแพง ซึ่งจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น Napoleon ของ Courvoisier หรือ Cordon Bleu ของ Martell หรือ Bras d’Or ของ Hennessy เป็นต้น คอนญักชนิดนี้จะผ่านการบ่มอันยาวนานถึง 15-25 ปี และจากการบ่มอันยาวนานนี้จะทำให้คอนญักชนิดนี้มีความจรุงทั้งกลิ่นและรส รวมถึงมีแทนนิน (tannin) สูงที่ได้ไม้โอ๊ค คอนญักชนิดนี้ยังมีชื่ออื่นๆ อีกเช่น XO (extra old) Extra Vielle Grand Reserve เป็นต้น

อมายัค (Armagnac) เป็นบรั่นดีอีกชนิดหนึงที่มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชชอบไปทั่วโลก ผลิตจากองุ่นและผลิตอยู่ในแคว้นอมายัค ประเทศฝรั่งเศสเฉกเดียวกับคอนญัก มีสถานที่ผลิตสำคัญๆอยู่สามที่คือ Haut Armagnac Tènarèze และ Bas Armagnac โดยใช้พันธุ์คล้ายกันกับคอนญักดือ Folle Blanche และ Baco 22A ซึ่งปลูกกันมากใน Saint-Émilion อมายัคจะบ่มในถังไม้โอ๊คดำ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่มที่ได้จากกลั่นตัวอื่น แม้กระทั่งคอนญักเองก็จะบ่มจากถังไม้โอ๊คขาว อมายัคจะมีการบ่มที่ยาวนานกว่าคอนญัก และสิ่งที่ไม่เหมือนคอนญักอีกอย่างคืออมายัคจะมีการระบุปี (Vintage) อมายัคเองก็มีการแบ่งชนิดออกเป็น 3 ชนิดตามอายุการบ่มเช่นกัน อมายัคที่มีอายุบ่มน้อยที่สุดคือประมาณ 3 ปี และในระดับ VSOP จะบ่มนานประมาณ 5-10 ปี และในระดับที่มีอายุการบ่ม 15-25 ปี จะเรียกว่า Hors d’Age หรือ Vieille Réserve นอกจากนี้ยังมีบรั่นดีอื่น ๆ อีกเช่น Apple brandy ที่ผลิตจากแอปเปิ้ล รวมถึง Calvados จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายชนิด เช่น Calvados du Pays d’Auge และ Eau-de-vie de Cidre

ฟรุตอูเดอวี (Fruit Eaux-de-Vie) ก็เป็นบรั่นดีที่ผลิตจากผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มีการบ่มในถังโอ๊ค เพราะฉะนั้นบรั่นดีชนิดนี้จึงมีสีใสและมีกลิ่น รสเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละตัวนั้นไป ฟรุตอูเดอวีจะผลิตกันมากในแถบยุโรป และอเมริกาเหนือ กรรมวิธีการผลิตทั่วไปก็จะมี 2 แบบ แบบแรกจากการหมักผลไม้ให้เกิดเป็นไวน์แล้วจึงนำไปกลั่น คล้ายกับกรรมวิธีของคอนญัก โดยหลักจะใช้เชอร์รี่ (cherry) พลัม (plum) และแพร์ (pear) และอีกกรรมวิธีซึ่งจะใช้ผลไม้ที่มีเปลือกอ่อนเช่นราสเบอร์รี่ (Raspberries) โดยจะนำผลไม้ไปแช่ในเหล้าที่มีแอลกอฮอล์สูง แล้วจึงนำไปกลั่น ฟรุตอูเดอวีที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม จะได้จากผลไม้ต่างดังนี้[3]

  1. เชอร์รี่ (Cherry) Kirsch, Kirschwasser
  2. แพร์ (Pear) Poire Williams, Williams Birnenbrand
  3. ราสเบอร์รี่ (Raspberry) Framboise, Himbeergeist
  4. ลูกพลัมเหลือง (Yellow plum) Mirabelle, Mirabellewasser
  5. ลูกพลัมม่วง (Violet plum) Quetsch, Zwetschgenwasser, Slivowitz

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บรั่นดี ที่สารานุกรมบริตานิกา
  2. "Brandy". BBC. สืบค้นเมื่อ 22 July 2014.
  3. Kirk-Othmer Food and Feed Technology. John Wiley & Sons. 2007-12-14. p. 151. ISBN 9780470174487.
  NODES