ศักดินา

ระบบชนชั้นทางสังคมที่เรียงลำดับตามจำนวนนา

ศักดินา เป็นระบบกำหนดชนชั้นทางสังคม คือกำหนดสิทธิในการถือครองที่นาสูงสุด ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ตามจำนวนที่ดินด้วย ทำนองเดียวกับระบบเจ้าขุนมูลนาย (feudalism) ของทวีปยุโรป

กำเนิด

แก้

ระบบศักดินาที่พัฒนาต่อมาจากสังคมทาสโดยที่อาณาจักรสุโขทัยตอนต้นเป็นยุคปลายของสังคมทาส จิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่าศักดินาน่าจะปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยอาณาจักรสุโขทัย เพราะมีการปรับไหมตามศักดิ์ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทรงประกาศว่า ที่ดินทั้งปวงเป็นของพระมหากษัตริย์ นับเป็นการประกาศเริ่มต้นของสังคมศักดินาอย่างชัดเจน ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากเอาชนะอาณาจักรสุโขทัยได้ ก็มีการจัดระเบียบที่ดินใหม่ (อาจเรียกว่าเป็นการแบ่งที่ดินใหม่)[1]: 130  พร้อมทั้งตราพระอัยการตำแหน่งนาทหารและพลเรือน มีการกำหนดศักดินาของคนในบังคับทั้งปวง เรื่อยมาจนรัชกาลที่ 5 มีการเลิกชนชั้นทาสและไพร่ ส่วนศักดินาถูกล้มเลิกไปส่วนใหญ่ในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และยกเลิกบรรดาศักดิ์ในเวลาต่อมา

ลักษณะ

แก้

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวง มีสิทธิจับจอง พระราชทาน และริบคืนที่ดินได้ เช่น ใน พ.ศ. 2404 สมัยรัชกาลที่ 4 มีการเกณฑ์คนไปขุดคลองแถวแขวงเมืองนนทบุรี นครไชยศรี แล้วยกที่ดินนั้นให้แก่พระเจ้าลูกเธอโดยยกเว้นการเสียภาษีให้ด้วย[1]: 143–4  ในรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2337 ทรงพระราชทานแดนเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้แก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)[1]: 132 

ชนชั้น ศักดินา (ไร่)
เจ้านายและฝ่ายใน 100,000ขึ้นไป
เจ้านายชั้นรองที่ได้รับบรรดาศักดิ์และนางใน 10,000-100,000
ขุนนาง 400-10,000
ไพร่ 5–20
ทาส 5

ศักดินาที่ระบุไว้เป็นการกำหนดปริมาณที่ดินสูงสุดที่บุคคลหนึ่งจะมีได้[1]: 129  ในสมัยหลังมีการสืบทอดมรดก ผู้ที่ได้รับพระราชทานที่ดินไปแล้วแม้ออกจากราชการหรือเสียชีวิตลงไม่ต้องเวนคืนพระมหากษัตริย์ ที่ดินในกรรมสิทธิ์เจ้านายและขุนนางมีมากขึ้น ทำให้ไม่ค่อยมีการแบ่งที่ดินอีก บรรดาที่ดินใหม่ ๆ ที่ถางได้พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงมักครอบครอง[1]: 140–1  นอกจากนี้ศักดินาเป็นตัวกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ ศักดินาใช้คำนวณเบี้ยหวัดรายปี อัตราปรับไหม ศักดินา 400 ขึ้นไปมีสิทธิ์จ้างทนายความแก้ต่างในศาลได้[1]: 142 

ในกฎหมายศักดินา เจ้านายทรงกรม หมายถึง เจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถบังคับบัญชาไพร่พลได้ กรมหนึ่งมีเจ้ากรม ปลัดกรมและสมุห์บัญชี กรมนี้ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนไพร่ในบังคับ เรียกว่า "เลก"[1]: 132 

พึงเข้าใจว่าไพร่ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นมีศักดินาเพียง 5 ไร่ เท่ากับขอทานและทาส ไพร่ที่มีศักดินาสูงขึ้นมานั้นเป็นไพร่จำนวนน้อย เช่น ไพร่ในสังกัดเจ้านาย ไพร่ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักร ไพร่ที่คุมงานโยธา เป็นต้น

ไพร่ชายอายุตั้งแต่ 18 ถึง 60 ปีบริบูรณ์มีหน้าที่ต้อง "เข้าเวร" คือการถูกเกณฑ์แรงงาน (corvée) ทั้งในด้านการเกษตร การโยธา เป็นต้น โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกำหนดเข้าเวรปีละ 6 เดือน ในช่วงนี้ไพร่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ และต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทั้งค่าอาหาร วัวควายและเครื่องมือการเกษตร ซ้ำเมื่อออกเวรแล้วต้องเสียค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองที่เรียก "ตราภูมิคุ้มห้าม" เป็นเงิน 2.35 บาทด้วย[1]: 185–6  ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ลดลงเหลือปีละ 4 เดือนและ 3 เดือน สำหรับไพร่ที่ไม่อยากเข้าเวรสามารถจ่ายส่วยแทนแรงได้ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์คิดปีละ 12 บาท สำหรับอัตราในสมัยอยุธยาตอนปลายไม่เท่ากัน มีตั้งแต่เดือนละ 3–8 บาท[1]: 176–7  ในรัชกาลที่ 1 คิดปีละ 18 บาท สมัยรัชกาลที่ 5 หลังเลิกไพร่แล้ว มีการเก็บ "ค่าราชการ" ชายอายุ 18–60 ปีที่ไม่ถูกเกณฑ์ทหารปีละ 6 บาท ในรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนให้เก็บครอบคลุมยิ่งขึ้น เรียกว่า "เงินรัชชูปการ"

ชนชั้นนักบวช

แก้

ความสัมพันธ์ทางชนชั้น

แก้

ไพร่ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นถูกจำกัดการใช้ประโยชน์ชองที่ดินอย่างยิ่ง แม้ว่าไพร่จะได้รับระบุศักดินาซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่สามารถถือครองที่ดินได้สูงสุดนั้น แต่ในความเป็นจริงต้องสังกัดอยู่กับขุนนางอยู่ดี ขุนนางเหล่านั้นสามารถสั่งให้ไพร่ลงแรงทำนาในที่นาของตนแล้วเรียกเก็บส่วย[1]: 165  ในการทำนา ไพร่ต้องเสียอากรค่านาให้หลวง และถูกบังคับขายให้หลวงไร่ละ 2 ถังโดยได้เงินครึ่งเดียว[1]: 202  ทั้งนี้อากรค่านาเป็นรายได้หลักของราชสำนักสมัยก่อน[1]: 205  นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่าการทำกสิกรรมในพื้นที่น้อยกว่า 6 ไร่มีแต่ขาดทุน[1]: 151  บางคนที่เช่าที่นาคนอื่นทำกินต้องเสียทั้งค่าเช่า และอากรค่านาให้หลวงแทนเจ้าของที่ดินด้วย จึงเป็นเหตุให้ไพร่ต้องกู้หนี้ยืมสินเป็นจำนวนมาก โดยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 37.5 ต่อเดือน (หรือร้อยละ 450 ต่อปี)[1]: 166  เมื่อสิ้นเนื้อประดาตัว บ้างก็ขายลูกเมียหรือตนเองไปเป็นทาส บ้างไปเล่นพนันหรือหวยเพื่อหวังมีเงินทอง หญิงบางคนก็ขายตัวเองเป็นโสเภณี

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 จิตร ภูมิศักดิ์. (2550). โฉมหน้าศักดินาไทย, กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 9, ISBN 9789748075242.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  NODES