ออรันดา
ออรันดา |
---|
ประเทศถิ่นกำเนิด |
ญี่ปุ่น |
ประเภท |
ปลาทอง |
Breed standards |
BAS |
ออรันดา (อังกฤษ: Oranda) เป็นสายพันธุ์ของปลาทองชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำปลาทองสายพันธุ์ริวกิ้น และสายพันธุ์หัวสิงห์มาผสมกัน จัดเป็นปลาทองอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมีประวัติสายพันธุ์ที่ยาวนาน
ประวัติ
แก้ออรันดา มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ออรันดา ชิชิงะชิระ (オランダシシガシラ) ซึ่งแปลได้ว่า "ปลาทองหัวสิงห์ดัตช์" ออรันดาเกิดขึ้นโดยชาวญี่ปุ่นเป็นผู้เพาะพันธุ์สำเร็จขึ้นเป็นชาติแรก สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 18 และแพร่หลายในต้นศตวรรษที่ 19 ออรันดาเป็นปลาทองที่มีลำตัวค่อนข้างยาว ส่วนหน้าไม่แหลมเหมือนปลาทองริวกิ้น มีจุดเด่น คือ ครีบทุกครีบค่อนข้างยาว หางอ่อนช้อยเป็นพวงยาว มีความพริ้วไหวงดงามเมื่อเมื่อสะบัดว่ายน้ำ
เหตุที่ได้ชื่อว่า "ออรันดา" สันนิษฐานว่า ชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาค้าขายยังประเทศญี่ปุ่นอาจจะเอาลักษณะทรงผมที่ไว้ยาวแล้วมวนเป็นลอนหรือฟูประกอบกับเครื่องแต่งกายของขุนนางชาวดัตช์ มาตั้งเป็นชื่อสายพันธุ์ (ทำนองเดียวกับปลากัดจีนของไทย) แต่ก็มีบางข้อมูลกล่าวว่าประเทศฮอลแลนด์ หรือ ฮอลันดา เป็นประเทศแรกที่เพาะพันธุ์ขึ้นสำเร็จ ซึ่งมีการนำเข้าปลาทองสายพันธุ์ต่าง ๆ ไปเลี้ยงในทวีปยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16
สำหรับในประเทศไทย ปลาทองเริ่มเข้ามาในช่วงอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์ ออรันดาก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น แต่เริ่มมีการเพาะขยายพันธุ์อย่างจริงจังเมื่อราว พ.ศ. 2500
การจัดแบ่งโครงสร้าง
แก้ออรันดาอาจแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ตามลักษณะโครงสร้าง คือ
- ออรันดาปักกิ่ง เป็นออรันดาที่มีโครงสร้างลำตัวเล็กที่สุด ขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 3.5-4 นิ้ว เป็นสายพันธุ์ที่วุ้นขึ้นเร็วและฟูที่สุด เหมาะแก่การเลี้ยงในตู้ปลาขนาดไม่ใหญ่เกินไปนัก เช่น 24-30 นิ้ว
- ออรันดากลาง เกิดจากการผสมกันระหว่างออรันดาปักกิ่งและออรันดายักษ์ ทำให้ได้ปลาที่มีขนาดพอเหมาะลำตัวโตเต็มที่ประมาณ 5-6 นิ้ว วุ้นจะขึ้นเร็วกว่าออรันดายักษ์ แต่ก็ไม่เร็วไปกว่าออรันดาปักกิ่ง
- ออรันดายักษ์ เป็นปลาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อต้องการความใหญ่โตของตัวปลา ตอบสนองความต้องการของผู้เลี้ยงที่ต้องการจะเลี้ยงปลาทองตัวใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 8 นิ้ว เป็นปลาทองที่โตช้า วุ้นขึ้นช้า ซึ่งจะพัฒนาตามขนาดลำตัวและวัยของปลา เป็นปลาที่กินเก่ง แต่ต้องการพื้นที่กว้าง ๆ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเลี้ยงในตู้ขนาดใหญ่ หรือในบ่อ
และยังอาจแบ่งออรันดาออกเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีกตามลักษณะของหัวและสี เช่น ออรันดาปักกิ่ง, ออรันดาเรดแคป (ตันโจ), ออรันโดอาร์ปาเช, ออรันดาดำ, ออรันดาห้าสี และออรันดาเกล็ดข้าวโพด ที่เกล็ดทั้งลำตัวจะเป็นสีส้มและมีขอบเกล็ดเป็นสีขาว นับเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพาะขึ้นมาได้ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีออรันดาสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ออรันดาสั้น ที่มีลำตัวป้อมสั้นเหมือนปลาทองริวกิ้น แต่ทว่ามีครีบและหางเบ่งบาน โดยเกิดจากการพัฒนาปลาโดยคัดเก็บปลาทองออรันดาที่หลุดเป็นทรงป้อมสั้นกว่าตัวอื่นในครอกมาไขว้พัฒนา จนกลายเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง
มาตรฐานสายพันธุ์
แก้โดยทั่วไป ออรันดาต้องมีรูปร่างลักษณะความกว้างของลำตัว (มองจากด้านข้าง) ต้องไม่น้อยกว่า 2/3 เท่าของความยาวลำตัว ครีบหลังตั้งตรงไม่หัก หรือโค้งงอ ครีบต่าง ๆ เป็นครีบคู่ ส่วนครีบทวารจะเป็นครีบเดี่ยวหรือครีบคู่ก็ได้ แต่ต้องไม่บิดงอผิดรูปทรง หางควรมีความยาวไม่น้อยไปกว่า 3/4 เท่าของความยาวลำตัว หางไม่หักคดงอหรือพับ ปลายหางเป็นสี่แฉกแยกออกจากกัน แต่หากเป็นออรันดาสั้น หรือออรันดาปักกิ่ง เนื้อใบหางค่อนข้างจะบางเพราะเป็นปลาที่เพาะเอาจำนวน ไม่ได้เน้นในเชิงการพัฒนามากนัก[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า 82-98, เจาะกระแส Oranda ปลาทองรุ่นยักษ์. "Colorful Cyprinids" โดย teenuang, กองบรรณาธิการ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 53: พฤศจิกายน 2014