เกรียน เป็นศัพท์สแลงแทนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล หรือคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคมอินเทอร์เน็ต บุคคลกลุ่มนี้จะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลหรือการวิเคราะห์ไตร่ตรอง นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงบุคคลที่ชอบแสดงตัวว่ามีความรู้ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีความรู้ดังกล่าวเลย หรือมีเพียงผิวเผินเท่านั้น[1]

ประวัติ

แก้

ในช่วงแร็กนาร็อกออนไลน์เป็นที่นิยมในระยะแรก ๆ เยาวชนที่เล่นเกมนี้ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะจัดสรรเวลาและค่าใช้จ่ายของตนในการเล่นที่ร้านอินเทอร์เน็ตหรือที่บ้าน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จึงเข้ามาดูแลส่วนนี้โดยตรง โดยออกข้อบังคับบางประการ เช่น ห้ามเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์ทุกประเภทหลัง 22 นาฬิกา หรือห้ามเล่นเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน[2] ทำให้เยาวชนบางส่วนเข้าไปพูดคุยกันในเว็บบอร์ดของประมูลดอตคอมในลักษณะของการระบายอารมณ์และกล่าวโจมตีกระทรวงไอซีที[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งจุดมุ่งหมายของเว็บไซต์ดังกล่าวคือการซื้อขายสินค้าเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] แต่ภายหลังเว็บบอร์ดนั้นกลายเป็นที่รวมการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวของเยาวชนที่ขาดการควบคุมดูแล และได้มีการกล่าวคำหนึ่งขึ้นว่า "เกรียน" เพื่อเป็นการดูแคลนเยาวชนเหล่านั้น[ต้องการอ้างอิง] และคำนี้ได้ถูกนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในเว็บบอร์ดหรือเกมออนไลน์ต่างๆ

คำว่า เกรียน อาจมีที่มาจากทัศนคติของเด็กชายที่ตัดผมสั้นหัวเกรียน (ตามความหมายเดิมของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า สั้นเกือบติดหนังหัว ผิวหนัง หรือพื้นที่) ซึ่งมักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในร้านอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการเกมออนไลน์อยู่บ่อย ๆ[ต้องการอ้างอิง] เนื่องจากความไม่พอใจในสถานการณ์บางอย่าง เช่นขณะเล่นเกม หรือความต้องการที่จะก่อกวนผู้อื่น และเมื่อถูกใช้บ่อยครั้งเข้า คำนี้จึงใช้แทนกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเหล่านั้นไปเสีย โดยไม่คำนึงถึงอายุหรือวุฒิภาวะ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลเหล่านั้นมักไม่พอใจที่ถูกเรียกว่าเกรียน ซึ่งดูเหมือนเป็นการแบ่งแยกทางสังคม บางครั้งก็กลับเรียกบุคคลอื่นว่าเป็นเกรียนก็มี และเนื่องด้วยนิสัยส่วนตัวที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง เกรียนจึงใช้ศัพท์สแลงแทนตัวอีกคำหนึ่งคือ เทพ เช่น เกรียนเทพ เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งใช้เปรียบว่าตนเองมีอำนาจหรือมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าผู้อื่น และมองผู้อื่นว่าด้อยกว่าตน เนื่องจากจุดเริ่มต้นที่เว็บไซต์หรือระบบในเกมออนไลน์บางแห่งไม่รองรับอักษรไทย จึงเขียนเป็น Inw (ไอ เอ็น ดับเบิลยู) หรือ lnw (แอล เอ็น ดับเบิลยู) ในลักษณะลีทซึ่งคล้ายคำว่า เทพ คำนี้สามารถพบเห็นได้บ่อยพอ ๆ กับคำว่าเกรียนและถูกใช้ควบคู่กันเรื่อยมา

การนำมาใช้

แก้

คำนี้มีใช้อย่างแพร่หลายในอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้พาดหัวข่าวและบทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์[3][4] และนำมาตั้งชื่อภาพยนตร์ต่างประเทศในภาษาไทยอีกด้วย เช่น เกรียนโคตร มหาประลัย[5]

ในภาษาอื่น

แก้

โทรล (Troll) ในภาษาอังกฤษ หมายถึง คนที่ผ่านการกระทำโดยจงใจพยายามที่จะทำลายชุมชนหรือเรียกความสนใจและการทะเลาะวิวาทด้วยข้อความยั่ว ในคำกริยา โทรล มาจากภาษาฝรั่งเศสเก่า troller เป็นคำที่หมายถึงการล่าสัตว์ ในคำนาม โทรลเป็นคำภาษานอร์สโบราณ เป็นสัตว์ประหลาดในเทพปกรณัมชนิดหนึ่ง[6]

อ้างอิง

แก้
  1. "เกรียน". สืบค้นเมื่อ 10 March 2023.
  2. จัดระเบียบร้านเน็ต คุมเข้ม 'เด็กติดเกม' ห้ามเล่นเกินวันละ 3 ชม.
  3. ดิยุฟอ้างแฟนทอฟฟีเกรียนปากล้วยใส่ จาก ไทยรัฐออนไลน์ สืบค้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2553
  4. 200 Pounds Beauty : หนังตบเกรียนติ่งหูเกาหลี/ต่อพงษ์ เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2553
  5. เกรียนโคตร มหาประลัย (Kick-Ass) เก็บถาวร 2010-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2553
  6. http://www.etymonline.com/index.php?term=troll

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  NODES