เงียมอู
เงียมอู มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เหยียน ยฺหวี่ (จีน: 閻宇; พินอิน: Yán Yǔ) ชื่อรอง เหวินผิง (จีน: 文平; พินอิน: Wénpíng) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน
เงียมอู (เหยียน ยฺหวี่) | |
---|---|
閻宇 | |
มหาขุนพลขวา (右大將軍 โย่วต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 258 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
แม่ทัพภูมิภาคหนานจง (庲降都督 หลายเสียงตูตู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครจิงโจว มณฑลหูเป่ย์ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
อาชีพ | ขุนพล |
ชื่อรอง | เหวินผิง (文平) |
ประวัติ
แก้เงียมอูเป็นชาวเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น) ในมณฑลเกงจิ๋ว (荊州 จิงโจว) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครจิงโจว มณฑลหูเป่ย์[1] เงียมอูรับราชการในจ๊กก๊ก มีชื่อเสียงในเรื่องความสามารถและคุณธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันหมั่นเพียร[2]
ในช่วงปีท้าย ๆ ของศักราชเหยียนซี (延熙; ค.ศ. 238-257) เงียมอูได้รับการตั้งเป็นแม่ทัพภูมิภาคหนานจง (庲降都督 หลายเสียงตูตู) ลำดับที่ 6 แทนที่จาง เปี่ยว (張表) แล้วยกทหารไปสยบภูมิภาคหนานจง (南中) เงียมอูเป็นคนขยันหมั่นเพียร จัดการราชการต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ดำเนินตามรอยของม้าตง แต่อิทธิพลและความดีความชอบไม่เทียบเท่าม้าตง[3] ฮั่ว อี้ (霍弋) ได้รับการตั้งให้เป็นเสนาธิการทัพ (參軍 ชานจฺวิน) ของเงียมอู[4]
ในปี ค.ศ. 258 เงียมอูได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาขุนพลขวา (右大將軍 โย่วต้าเจียงจฺวิน) ฮั่ว อี้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนเงียมอูในตำแหน่งผู้ควบคุมทัพ (監軍 เจียนจฺวิน) และขุนพลสงบภาคใต้ (安南將軍 อันหนานเจียงจฺวิน)[4] ในช่วงเวลานั้นจองอี้ผู้เป็นแม่ทัพอำเภอเองอั๋น (永安都督 หย่งอานตูตู) เดินทางกลับนครหลวงเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) เพราะล้มป่วย ในขณะที่ซุนหลิมกำลังกุมอำนาจในรัฐง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของจ๊กก๊กในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหล่าขุนนางไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชือ จี (施績) ผู้เป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) ของง่อก๊กกังวลว่ารัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริจะฉวยโอกาสจากความวุ่นวายภายในง่อก๊ก ชือ จีจึงลอบเขียนจดหมายถึงรัฐจ๊กก๊กเพื่อแสดงถึงความกังวลว่าง่อก๊กจะถูกวุยก๊กผนวก ราชสำนักจ๊กก๊กจึงตั้งให้เงียมอูเป็นแม่ทัพอำเภอเองอั๋น และนำกำลังทหารเพิ่มเติมห้าพันนายไปป้องกันเมืองปาตง (巴東郡 ปาตงจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่งในปัจจุบัน)[5]
ในปีเดียวกันนั้น เฉิน จือ (陳祗) ผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) เสียชีวิต[6] ขันทีฮุยโฮจึงได้ผูกขาดอำนาจในราชสำนักจ๊กก๊ก นายกองพันหลัว เซี่ยน (羅憲) ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับฮุยโฮ ฮุยโฮจึงให้ส่งหลัว เซี่ยนไปไกลจากนครหลวงเซงโต๋ให้ไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองปาตง แม้ว่าเงียมอูจะประจบประแจงฮุยโฮแต่ก็เห็นความสำคัญของความสามารถของหลัว เซี่ยน จึงให้หลัว เซี่ยนคุมกำลังทหารและตั้งให้เป็นรองแม่ทัพของตน[7][8]
เกียงอุยได้รับหน้าที่สำคัญในการยกทัพบุกวุยก๊กติดต่อกันหลายปีแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเงียมอูซึ่งเวลานั้นเป็นมหาขุนพลขวา ฮุยโฮต้องการปลดเกียงอุยออกจากอำนาจและตั้งเงียมอูขึ้นแทนที่[9] จูกัดเจี๋ยมผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) ก็ถวายฎีกาทูลเสนอให้ตั้งเงียมอูแทนที่เกียงอุยเช่นกัน[10] เมื่อเกียงอุยทราบเรื่องนี้จึงทูลเล่าเสี้ยนว่า "ฮุยโฮกลับกลอก แกมโกง ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จะทำลายรัฐลงได้ ขอทรงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเถิด" เล่าเสี้ยนตรัสตอบว่า "ฮุยโฮเป็นเพียงข้าราชการผู้น้อยที่เราใช้ให้ไปทำธุระไป ๆ มา ๆ ก่อนหน้านี้ตั๋งอุ๋นก็รังเกียจเขาอย่างขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ข้ารู้สึกไม่ชอบใจในเรื่องนี้ เหตุใดท่านจึงระแวงเขาเล่า" เกียงอุยเห็นว่าฮุยโฮมีผู้สนับสนุนจำนวนมากในราชสำนัก กลัวว่าที่ตนกล่าวประณามฮุยโฮจะเป็นเหตุให้ผู้สนับสนุนของฮุยโฮมาจับตัวตน จึงเปลี่ยนท่าทีและทูลอย่างสำรวมต่อเล่าเสี้ยนอีกไม่กี่ประโยคแล้วจึงทูลลาออกมา เล่าเสี้ยนจึงทรงส่งฮุยโฮไปพบเกียงอุยเพื่อขอขมา ตั้งแต่นั้นมาเกียงอุยก็ระแวงถึงภัยอันตรายในราชสำนักมากขึ้น หลังกลับจากเตียวเจี๋ยง (洮陽 เถาหยาง) เกียงอุยก็ขอไปยังท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อดำเนินการทำนาเพาะปลูกข้าวสาลี และไม่กล้ากลับไปนครหลวงเซงโต๋
ในปี ค.ศ. 263 รัฐวุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก จักรพรรดิเล่าเสี้ยนจึงมีรับสั่งให้เงียมอูนำกำลังทหารยกมาทางตะวันตกเพื่อช่วยป้องกันนครหลวงเซงโต๋ เงียมอูมอบหมายให้หลัว เซี่ยนคุมทหารสองพันนายอยู่รักษาอำเภอเองอั๋น ตัวเงียมอูนำกำลังทหารที่เหลือไปทางตะวันตกไปช่วยเหลือนครหลวงเซงโต๋[7] ต่อมาไม่นานวุยก๊กพิชิตจ๊กก๊กลงได้ ไม่มีการกล่าวถึงเงียมอูในบันทึกประวัติศาสตร์อีกหลังจากนั้น
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ (閻宇字文平,南郡人也。) อรรถาธิบายจากหฺวาหยางกั๋วจื้อในสามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
- ↑ 《宋书·州郡志三》:“南浦令,刘禅建兴八年(230年)十月,益州牧阎宇表改羊渠立。”但当时诸葛亮兼领益州牧,阎宇不可能为益州牧;且《华阳国志·巴志》:“迄吴平,巴东后省羊渠,置南浦。”可见蜀汉当时置羊渠县,西晋统一后才将其撤销,置南浦县。详见凌富亚《蜀汉政区地理研究》 เก็บถาวร 2019-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน。
- ↑ (張表,時名士,清望踰忠。閻宇,宿有功幹,於事精勤。繼踵在忠後,其威風稱績,皆不及忠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
- ↑ 4.0 4.1 (表後,以南郡閻宇為都督,南郡為參軍。弋甚善參毗之禮,遂代宇為監軍、安南將軍。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
- ↑ (孫綝秉政,大臣疑貳,績恐吳必擾亂,而中國乘釁,乃密書結蜀,使為並兼之慮。蜀遣右將軍閻宇將兵五千,增白帝守,以須績之後命。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
- ↑ (以……閻宇為右【衛】大將軍。陳祗卒,謚曰忠侯。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 7.
- ↑ 7.0 7.1 (時右大將軍閻宇都督巴東,為領軍,後主拜憲領軍,為宇副貳。魏之伐蜀,召宇西還,留宇二千人,令憲守永安城。) เซียงหยางฉีจิ้วจี้ เล่มที่ 2.
- ↑ (時大將軍閻宇都督巴東,拜(羅)憲領軍,為(閻)宇副貳。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
- ↑ (維本羈旅托國,累年攻戰,功績不立。而宦官黃皓等弄權於內,右大將軍閻宇與皓協比,而皓陰欲廢維樹宇。維亦疑之,故自危懼,不復還成都。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (維好戰無功,國內疲弊,宜表後主,召還為益州刺史,奪其兵權;蜀長老猶有瞻表以閻宇代維故事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- ฉาง ฉฺวี (คริสต์ศตวรรษที่ 4). หฺวาหยางกั๋วจื้อ.
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).