เพชร
เพชร เป็นอัญมณีรูปแบบหนึ่งของคาร์บอน จัดเรียงตัวเป็นทรงแปดหน้า เป็นแร่ที่แข็งที่สุดตามสเกลของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความแข็งเท่ากับ 10
เพชร | |
---|---|
เพชรรูปกลมที่ตัดและเจียระไนอย่างงดงาม สะท้อนแสงแพรวพราวตามเหลี่ยมมุม | |
การจำแนก | |
ประเภท | แร่ธรรมชาติ |
สูตรเคมี | C |
คุณสมบัติ | |
มวลโมเลกุล | 12.01 |
สี | โดยทั่วไปสีเหลือง น้ำตาล หรือ เทา ไปจนถึงไม่มีสี น้อยครั้งที่จะเป็นสีฟ้า เขียว ดำ ขาวขุ่น ชมพู ม่วง ส้ม และแดง |
รูปแบบผลึก | ทรงแปดหน้า |
โครงสร้างผลึก | สี่เหลี่ยมจัตุรัส-สามมิติ (เหลี่ยมลูกบาศก์) |
แนวแตกเรียบ | 111 (สมบรูณ์แบบใน 4 ทิศทาง) |
รอยแตก | แตกแบบฝาหอย |
ค่าความแข็ง | 10 มีการแตกได้ยาก |
ความวาว | มีความวาว |
ความวาวจากการขัดเงา | มีความวาว |
ดรรชนีหักเห | 2.418 (ที่ 500 nm) |
คุณสมบัติทางแสง | ไอโซทรอปิก |
ค่าแสงหักเหสองแนว | ไม่มี |
การกระจายแสง | 0.044 |
การเปลี่ยนสี | ไม่มี |
สีผงละเอียด | ไม่มีสี |
ความถ่วงจำเพาะ | 3.52 ± 0.01 |
ความหนาแน่น | 3.5–3.53 |
จุดหลอมเหลว | ขึ้นกับความดันบรรยากาศ |
ความโปร่ง | โปร่งแสง กึ่งโปร่งแสง ถึง เป็นฝ้าทึบ |
อ้างอิง: [1][2] |
- ความหมายอื่นของ เพชร ดูได้ที่ เพชร (แก้ความกำกวม)
เพชรมีหลายสี โดยสีที่นิยมที่สุดคือสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนสีที่หายากคือสีแดง ฟ้า เขียว ส้ม ชมพู เรียก "แฟนซีคัลเลอร์ไดมอนด์" ซึ่งมีราคาสูงมาก
โดยทั่วไปการเจียระไนเพชรกลม เป็น 57 เหลี่ยม (หากรวมก้นเพชรรวมเป็น 58 เหลี่ยม) หรือ ที่เรียกว่าเหลี่ยมเกสร นับว่าสวยที่สุด เพชรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความแข็งแกร่ง แหล่งของเพชรมีอยู่ทั่วโลก ส่วนมากพบที่บราซิล แคนาดา รัสเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้
ศัพท์มูลวิทยา
แก้คำว่า เพชร ในภาษาไทย มาจาก वज्र (วชฺร) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง สายฟ้า หรืออัญมณีชนิดนี้ก็ได้ ส่วนในภาษาอังกฤษ "diamond" มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ αδάμας (adámas) ซึ่งมีความหมายว่า "สมบูรณ์" "เปลี่ยนแปลงไม่ได้" "แข็งแกร่ง" "กล้าหาญ" มาจาก ἀ- (a-) มีความหมายว่า "ไม่-" + δαμάω (damáō), "เอาชนะ" "ขี้ขลาด"[3] ภายหลังได้แผลงเป็น adamant, diamaunt, diamant และ diamond ในที่สุด
ประวัติ
แก้เพชรมีการกล่าวถึงและทำเหมืองเพชรครั้งแรกในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะชั้นหินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาเป็นเวลาหลายศตวรรษตามแม่น้ำเพนเนอร์ กฤษณะ และ โคธาวารี เพชรเป็นที่รู้จักในประเทศอินเดียมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีแต่ไม่เกิน 6,000 ปี[4]
อัญมณีเพชรกลายเป็นสิ่งมีค่าเมื่อมีการนำไปใช้เป็นรูปเคารพทางศาสนาในอาณาจักรอินเดียโบราณ นอกจากนี้ ยังมีการใช้งานเพชรเป็นเครื่องมือแกะสลักตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ของมนุษย์อีกด้วย[5][6] ความนิยมของเพชรได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เทคนิคการตัดและขัดเกลาที่ดีขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจโลก และการปฏิรูปและความสำเร็จของการโฆษณาเผยแพร่[7]
ในปี ค.ศ. 1772 อ็องตวน ลาวัวซีเยได้ใช้แว่นขยายรวมรังสีดวงอาทิตย์ไปบนเพชรในบรรยากาศที่มีแต่ออกซิเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์จากการเผาไหม้มีเพียงแต่คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการพิสูจน์ว่าเพชรเป็นองค์ประกอบของคาร์บอน ต่อมาในปี ค.ศ. 1797 สมิทสัน เท็นแนนต์ (Smithson Tennant) ได้ทำซ้ำและเพิ่มเติมการทดลองนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าการเผาไหม้เพชรและกราไฟท์จะปลดปล่อยก๊าซที่มีองค์ประกอบเดียวกัน สมิทสันได้สร้างสมดุลสมการเคมีของสารเหล่านี้ขึ้นมา
การใช้งานเพชรส่วนมากในปัจจุบันเป็นการใช้ในเชิงอัญมณีซึ่งใช้ทำเครื่องประดับ การใช้งานในลักษณะนี้สามารถนับย้อนไปได้ถึงในสมัยโบราณ การกระจายของแสงขาวในสเปกตรัมสีเป็นลักษณะพื้นฐานทางด้านอัญมณีวิทยาของอัญมณีเพชร ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้เชี่ยวชาญในด้านอัญมณีวิทยาได้พัฒนาวิธีแบ่งระดับของเพชรและอัญมณีชนิดอื่นบนพื้นฐานของลักษณะที่สำคัญในเชิงมูลค่าของอัญมณี 4 ลักษณะหรือที่รู้จักกันในชื่อ 4 ซี ถูกใช้เป็นพื้นฐานการบ่งชี้ของเพชร ประกอบด้วย กะรัต (carat) การตัด (cut) สี (color) และ ความสะอาด (clarity)[8] เพชรไม่มีตำหนิที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรู้จักกันในชื่อ พารากอน
คุณสมบัติทางกายภาพ
แก้เพชรเป็นผลึกโปร่งใสของอะตอมคาร์บอนที่จับยึดกับแบบรูปพีระมิด (sp3) ตกผลึกกลายเป็นโครงข่ายเพชรที่เป็นการแปรผันของโครงสร้างลูกบาศก์แบบเฟซเซ็นเตอร์ (face centered cubic)
หลักสากล 4Cs
แก้มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ เพชร (รัตนชาติ) (อภิปราย) |
การจำแนกระดับต่าง ๆ ของเพชรให้ดูถึงความบริสุทธิ์ที่เพชรมี ในหลักสากล สามารถแบ่งออกเป็น 4Cs ใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ Clarity (ความบริสุทธิ์) , Carat (น้ำหนักเพชรเทียบเป็นกะรัต) , Color (สีของเพชร) และสุดท้าย Cut (รูปแบบและทรงการเจียระไน)
ระดับความบริสุทธิ์ (Clarity)
แก้การจำแนกความบริสุทธิ์ของเพชร สามารถจำแนกได้ตามหลักสากล ดังนี้
1.Flawless (FL) - เป็นเพชรชั้นยอดน้ำงามที่สุด ไม่มีตำหนิหรือมลทินใด ๆ ในทั้งเนื้อเพชรและผิวของเพชร เมื่อมองภายใต้กล้องขยาย 10 เท่า (10X)
2.Internally Flawless (IF) - เป็นเพชรชั้นยอดที่ไม่มีตำหนิภายในเนื้อเพชรเลย เมื่อมองภายใต้กล้องขยาย 10 เท่า (10X)
3.Very Very Slightly Included (VVS1 / VVS2) - เป็นระดับของเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรให้เห็นได้น้อยมากๆ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องใช้กล้องกำลังขยาย 10 เท่า ส่องจึงเห็น และจะต้องใช้เวลาในการค้นหาค่อนข้างนาน แล้วแต่ความชำนาญของผู้ตรวจสอบ จำแนกออกเป็นระดับ 1 และ 2 ตามลำดับ หากตำหนิน้อยมากจะใช้ VVS1 หากตำหนิที่สามารถเห็นได้ชัดมากขึ้นจะใช้ VVS2
4.Very Slightly Included (VS1 / VS2) - เป็นระดับของเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรในระดับที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องใช้กล้องกำลังขยาย 10 เท่า ส่องจึงเห็น และจะต้องใช้เวลาในการค้นหาสักพัก แต่จะใช้เวลาน้อยกว่าเพชรความสะอาดระดับ VVS ตำหนิและมลทินสามารถเห็นได้ชัดเจนมากกว่าระดับ VVS และอาจมีสีต่าง ๆในเนื้อของมลทินที่สามารถมองเห็นได้
5.Slightly Included (SI1 / SI2) - เป็นระดับของมลทินที่สามารถมองเห็นได้ทันทีภายใต้กล้องกำลังขยาย 10 เท่าและบางกรณีสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมีขนาดที่เล็กอาจจะต้องสังเกต หรือใช้กระดาษขาวทาบและมองกับแสงไฟจึงเห็นชัดขึ้น ในระดับสายตาของผู้ยังไม่ชำนาญการ จะต้องใช้เวลานานในการสังเกต
6.Imperfect (I1 / I2 / I3) - เป็นระดับมลทินที่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะมีเยอะมาก จนทำให้สังเกตได้เยอะ
น้ำหนักซึ่งเป็นมาตรฐานในการวัดน้ำหนักของอัญมณี ซึ่งเทียบกับมาตราเมตริกได้ 0.2 กรัม ทั้งนี้ มาตรน้ำหนักกะรัตนี้ พ้องเสียงกับคำว่า กะรัต (Karat) ที่ใช้วัดระดับความบริสุทธิ์ของทองคำ ซึ่งทองคำมีค่าความบริสุทธิ์ 99.99% มีค่าเท่ากับ 24 กะรัต (Karat)
ในประเทศไทย จะนิยมเรียกกะรัตในส่วนทศนิยมว่า "ตัง" (Pointer) เช่น 0.3 กะรัต บางครั้งอาจเรียก 30 ตัง หรือ 0.95 กะรัต บางครั้งอาจเรียก 95 ตัง ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน เพื่อความง่ายต่อการเข้าใจ เพราะฉะนั้น เพชร 1 กะรัต จะมี 100 ตัง
การจำแนกเฉดสีของเพชร สามารถเรียงจาก D ไปจนถึง Z ซึ่งหากแทนด้วยอักษร D จะหมายถึง มีความขาวใส มากที่สุด ซึ่งบางครั้งคนไทยจะเรียกว่า "น้ำ" เพชรน้ำยิ่งสูงก็จะยิ่งขาวและไม่มีสีเหลืองเจือปน เพชรระดับไร้สี (Colorless) ได้แก่ เพชรน้ำ 100, 99, 98 หรือ เพชรสี D,E,F ส่วนเพชระดับเกือบไร้สี (Near Colorless) ได้แก่เพชรน้ำ 97, 96, 95, 94 หรือ G,H,I,J ดูตัวอย่างการเทียบ สีเพชรส่วนเฉดสีอื่น ๆ จะไล่ไปเรื่อย ๆ เช่น สีนวลอ่อน อาจจะแทนด้วยอักษร G สีเหลืองแชมเปญ จะไล่ลงไปเป็น L เหลืองเข้ม จะใช้แทนด้วย P จนกระทั่งไปถึงตัวอักษร Z ที่จะเป็นสีเหลืองสด และถูกแยกออกเป็นเฉดสีเพชรแฟนซี
การจำแนกสีของเพชร จะแยกเฉพาะโทนสี ขาว และเหลืองเท่านั้น หากแยกออกไปจากนี้จะเป็นรูปแบบเพชรสีแฟนซี ซึ่งจะมีสีสันสดใสและแปลกตาออกไป เช่น เหลือง ชมพู ส้ม ฟ้า ฯลฯ
เหตุที่แยกโทนสีเฉพาะสีเหลืองเพราะว่า คาร์บอนในตัวของเพชร เมื่อได้รับความร้อนหรือสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบอื่น ๆ จะทำให้เพชรมีสีแตกต่างออกไป เช่นเพชรสีเหลืองมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย สีน้ำเงิน อาจมีไทเทเนียมและเหล็กเจือปน หรือสีแดงอาจจะเป็นโครเมียมเจือปน ส่วนเพชรชมพูนั้นเกิดจากโครงสร้างของตัวเพชรเอง ส่วนสีเขียวนั้นเป็นเพชรที่ได้รับรังสี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นเพชรแฟนซี ที่มีสีสันแตกต่างออกไป และราคาแพงมากกว่าสีขาว เนื่องจากหายาก แต่อย่างไรก็ตาม เพชรสีขาวใสสะอาด เป็นที่นิยมมากกว่าเพชรแฟนซี แต่ในปัจจุบันได้มีผู้ผลิต หลายราย นำเพชรสีขาวมาปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้เกิดเป็นเพชรสีแฟนซี ต่าง ๆ ขึ้น เช่น ทำการอบ การเผา หรือการฉายรังสี ทำให้เกิดสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว สีเหลือง และสีฟ้า เป็นต้น
ราคาเพชร
แก้ตามหลักแล้วองค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดราคากลางเพชรคือ Rapaport ซึ่งจะจำแนกราคาเพชรตามคุณภาพ 4C จากในเบื้องต้น โดยแต่ละองค์ประกอบอาจส่งผลต่อราคาเพชรได้ ดังนี้[9]
น้ำหนักกะรัต (Carat)
แก้น้ำหนักกะรัตของเพชรจะส่งผลต่อราคาโดยตรง เช่น หากมีเพชร 2 เม็ดที่มีคุณภาพเหมือนกันทุกอย่าง เพียงแต่เม็ดหนึ่งมีน้ำหนัก 50 ตัง ในขณะที่อีกเม็ดหนึ่งมีน้ำหนัก 55 ตัง แน่นอนว่าเพชรเม็ดหลังต้องมีราคาสูงกว่าเม็ดแรก
นอกจากนี้เพชรจะมีมูลค่าสูงขึ้นหากอยู่ในเกณฑ์พรีเมียมไซส์ (Premium Size) หรือขนาดที่คาบเกี่ยวไปทางช่วงปลายของราคา เช่น:
- เพชรขนาดพรีเมียมไซส์น้ำหนัก 0.36 – 0.39 กะรัต และ 0.46 – 0.49 กะรัต ราคาเพชรมักจะสูงกว่าปกติ 10% – 20% - เพชรขนาดพรีเมียมไซส์น้ำหนัก 0.60 – 0.69 กะรัต และ 0.80 – 0.89 กะรัต ราคาเพชรมักจะสูงกว่าปกติ 7% – 12% - เพชรขนาดพรีเมียมไซส์น้ำหนัก 0.95 – 0.99 กะรัต และ 1.24 – 1.49 กะรัต ราคาเพชรมักจะสูงกว่าปกติ 5% – 10% - เพชรขนาดพรีเมียมไซส์น้ำหนัก 1.70 – 1.99 กะรัต ราคาเพชรมักจะสูงกว่าปกติ 7% – 12% - เพชรขนาดพรีเมียมไซส์น้ำหนัก 2.50 – 2.99 กะรัต ราคาเพชรมักจะสูงกว่าปกติ 5% – 10% - เพชรขนาดพรีเมียมไซส์น้ำหนัก 3.50 – 3.99 กะรัต และ 4.50 – 4.99 กะรัต ราคาเพชรมักจะสูงกว่าปกติ 5% – 10%
น้ำเพชร (Color)
แก้เมื่อพูดถึงน้ำเพชร หรือสีของเพชร หลายท่านอาจเคยได้พบเห็นการระบุถึงเพชรน้ำ 100 (D Color) เพชรน้ำ 99 (E Color) เพชรน้ำ 98 (F Color) ฯลฯ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาเพชร น้ำของเพชรจะขึ้นอยู่กับความขาว ซึ่งเพชรน้ำ 100 หรือเพชร D Color ถือว่าเป็นเพชรที่ขาวที่สุด (ไม่มีสีเจือปน) มีความสว่างและมูลค่าสูงกว่า เพชรน้ำรอง ซึ่งจะมีมีสีขาวอมเหลือง จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า ส่งผลให้มีมูลค่าน้อยกว่าเพชรน้ำสูง
ความสะอาด (Clarity)
แก้ความสะอาดของเพชร เป็นหนึ่งในอีกปัจจัยที่จะสามารถบ่งบอกถึงมูลค่าของเพชรในระยะยาว ยิ่งเพชรใสสะอาดมาก ก็จะยิ่งมีราคาสูง เช่น เพชรความสะอาดระดับ IF ย่อมมีราคาสูงกว่า เพชรที่มีความสะอาดระดับ VVS1, VVS2, VS1, VS2, SI1, SI2 ตามลำดับ
โดยเพชรจะยิ่งมีราคาลดลงหากคุณภาพต่ำกว่า SI เพราะคุณเริ่มจะสามารถมองเห็นตำหนิของเพชรบางเม็ดได้ด้วยตาเปล่า จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัดในการซื้อเพชร
เหลี่ยมเจียระไน (Cut)
แก้คุณภาพการเจียระไน ส่งผลต่อการเล่นไฟของเพชรโดยตรง จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะกำหนดมูลค่าของเพชรเม็ดนั้น เช่น เพชร 3 Excellent ย่อมมีราคาสูงกว่าเพชรที่เป็น Very Good, Good, Fair และ Poor ตามลำดับ โดยในบรรดาเพชรเหลี่ยมสวย เพชร 3 Excellent Cut ที่มี Hearts & Arrows (H&A) ร่วมด้วยมักจะมีราคาสูงกว่าเม็ดที่ไม่มี เพราะการที่เพชรเม็ดหนึ่งจะมีลักษณะนี้ได้ จำเป็นต้องเกิดจากการการเจียระไนเพชรให้มีเหลี่ยมที่สมมาตรอย่างตรงสัดส่วน ทำให้แสงตกกระทบบนเพชรแล้วส่องออกมาเป็นประกายที่งดงาม
อ้างอิง
แก้- ↑ "Diamond". Mindat. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07.
- ↑ "Diamond". WebMineral. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07.
- ↑ Liddell, H.G.; Scott, R. "Adamas". A Greek-English Lexicon. Perseus Project.
- ↑ Hershey, W. (1940). The Book of Diamonds. New York: Hearthside Press. pp. 22–28. ISBN 1-4179-7715-9.
- ↑ Pliny the Elder (2004). Natural History: A Selection. Penguin Books. p. 371. ISBN 0-14-044413-0.
- ↑ "Chinese made first use of diamond". BBC News. 2005-05-17. สืบค้นเมื่อ 2007-03-21.
- ↑ Epstein, E.J. (1982). "Have You Ever Tried To Sell a Diamond?". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
- ↑ Hesse, R. W. (2007). Jewelrymaking through history. Greenwood Publishing Group. p. 42. ISBN 0-313-33507-9.
- ↑ "ราคาเพชร วันนี้". Above Diamond. 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2022-02-22.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Properties of diamond: Ioffe database
- Interactive structure of bulk diamond (Java applet)
- Epstein, Edward Jay (1982). The diamond invention เก็บถาวร 2021-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Complete book, includes "Chapter 20: Have you ever tried to sell a diamond?")
- "A Contribution to the Understanding of Blue Fluorescence on the Appearance of Diamonds" เก็บถาวร 2009-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (2007) Gemological Institute of America (GIA)
- Tyson, Peter (November 2000). "Diamonds in the Sky". Retrieved March 10, 2005.