มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวจากประเทศไทย ที่มีมาตั้งแต่โบราณ ใช้หมัด ศอก แขนท่อนล่าง เท้า แข้ง เข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ และลำตัวในการต่อสู้ ศิลปะการต่อสู้ลักษณะนี้ ซึ่งปัจจุบัน ทางสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มีแผนการณ์ที่จะผลักดันกีฬามวยไทยเข้าสู่กีฬาโอลิมปิก[1][2]

มวยไทย

หลักการชกมวยไทย

แก้ไข

การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญที่มีการเปรียบเทียบว่า "ประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์" อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล (วงนอก) และระยะประชิด (วงใน) และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้

แม่ไม้มวยไทย

แก้ไข

แม่ไม้มวยไทยมี 15 ท่า ดังนี้: สลับฟันปลา(เดินมวยวงนอก), ปักษาแหวกรัง(เดินมวยวงใน), ชวาซัดหอก(ศอกวงนอก), อิเหนาแทงกฤช(ศอกวงใน), ยกเขาพระสุเมรุ(หมัดเสยวงนอก), ตาเถรค้ำฟัก(หมัดเสยวงใน), มอญยันหลัก(ถีบยัน), ปักลูกทอย(ศอกปักต้นขา), จระเข้ฟาดหาง(เตะเหวี่ยงฟาดกลับหลัง), หักงวงไอยรา(เข่าใต้ขา), นาคาบิดหาง(จับหักปลายเท้า), วิรุณหกกลับ(ถีบดักที่เข่า), ดับชวาลา(หมัดสอดทิ่มตรงเบ้าตา), ขุนยักษ์จับลิง(สอดแขนจับล็อคไพล่)และ หักคอเอราวัณ(โน้มคอตีเข่า)

แม่ไม้และลูกไม้มวยไทย ใช้สำหรับฝึกฝนการรุก การรับ ในการใช้จังหวะและอวัยวาวุธ ให้คล่องแคล่ว ทั้งวงนอก วงใน อันควรแก่การศึกษาเป็นแม่แบบ ที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ จระเข้ฟาดหาง (หมุนตัวแล้วฟาดตวัดด้วยวงเท้าหลัง), เถรกวาดลาน (เตะกวาดล่างวงนอกรวบสองเท้าให้เสียหลัก), หนุมาณถวายแหวน (ชกหมัดตรง/หมัดเสยหรือหมัดเหวี่ยงข้างพร้อมกันสองมือ), มอญยันหลัก (ถีบลำตัวให้เสียหลัก), หักงวงไอยรา (เหยียบคู่ต่อสู้เพื่อยกตัวเตะตวัดก้านคอ), บั่นเศียรทศกัณฑ์ (เตะก้านคอ), ปักลูกทอย (ปักศอกลงตรงหน้าขาคูต่อสู้), มณโฑนั่งแทน (กระโดดขึ้นปักศอกลงกลางกระหม่อม), หิรัญม้วนแผ่นดิน (ศอกกลับ), พระรามเดินดง (เตะแล้วต่อยตามข้างเดียวกัน), มอญแทงกริช (ถองด้วยศอกบริเวณซี่โครงอ่อน), ฤๅษีบดยา (กระโดดปักศอกกลางศีรษะ), พุ่งหอกโมกขศักดิ์ (ตั้งศอกเหนือศีรษะพุ่งเข้าบริเวณใบหน้า),ไกรสรข้ามห้วย (กระทืบโค้งยันข้อพับขาอ่อน),ทะแยค้ำเสา (กระทืบยันบริเวณข้อหัวเข่า) ฯลฯ

ลูกไม้

แก้ไข

มีทั้งลูกผสมและลูกแยก เพื่อใช้หลอกล่อและเผด็จศึก เช่น แตะตรงเตะ แตะถีบเตะ แตะตรงถีบเตะ การฝึกเตะ ได้แก่ เตะเฉียง เตะตัด เตะสลับ เตะช้อน เตะตวัด เตะสูง เตะสวาบ เตะพับนอกพับใน เตะคา เตะเขี่ยล่าง เตะกวาด กระโดดเตะ ตีลังกาเตะ การฝึกถีบ ได้แก่ ลูกถีบหน้า ถีบหลัง ถีบยัน ถีบค้ำ ถีบแป ถีบจิก ถีบโค้ง กระโดดถีบ การฝึกใช้ศอก ได้แก่ ลูกศอกตี ตัด งัด พุ่ง กระทุ้ง กลับ จูบศอกนอก จูบศอกใน ศอกคู่ ศอกปัก ศอกเฉียง ศอกเฉือน ขยี้ศอก กระโดดศอก การฝึกเข่า ได้แก่ ลูกเข่าน้อย เข่าลา เข่าโค้ง เข่าตี เข่ากระทุ้ง เข่าลอย เข่าแหลม เข่าคา เข่าแทง เข่าตรง เข่ายัดไส้ เข่าพุ่ง เข่าข้าง การฝึกหมัด ได้แก่ ลูกหมัดหน้า หมัดหลัง หมัดลัก หมัดอ้อม หมัดเกี่ยว หมัดสอย หมัดเสย หมัดสอด หมัดแหย่ หมัดค้ำ หมัดทะยาน หมัดคู่ หมัดรัว หมัดซ้ำ หมัดหนึ่งสอง หมัดชุดสามเหลี่ยม หมัดสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีการใช้ส่วนที่ไม่เป็นอาวุธในการป้องกัน-สร้างจังหวะในการตอบโต้ เช่น การใช้ฝ่ามือในการบัง ปิด ปัด ดึง ดัน ผลัก โหน ค้ำ ขวาง กด ทุบ ตี ฟาด กระแทก และใช้เท้าในการเต้นในรูปแบบต่างๆ อาทิ ย่าง เหยาะ หย่ง กระทืบ กวาด หรือ การบัง ขวาง ขัด ค้ำ โล้ ข้าม คร่อม กระโดด ใช้หัวไหล่หรือลำตัวในการหลอกล่อ การทำลายจังหวะ ฯลฯ

ลูกไม้มวยไทย หมายถึง ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่แยกย่อยออกไปจากแม่ไม้ มีลักษณะที่ละเอียดอ่อนมากมายหลายอย่าง ซึ่งผู้ฝึกจะต้องผ่านการฝึกหัดแม่ไม้มวยไทยก่อน จึงจะฝึกลูกไม้ให้ได้ดี บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งลูกไม้มวยไทยออกเป็น ๑๕ ไม้ ได้แก่ เอราวัณเสยงา ,บาทาลูบพักตร์ ,ขุนยักษ์พานาง ,พระรามน้าวศร ,ไกรสรข้ามห้วย กวางเหลียวหลัง ,หิรัญม้วนแผ่นดิน,นาคมุดบาดาล ,หนุมานถวายแหวน ,ญวนทอดแห ทะแยค้ำเสา ,หงส์ปีกหัก ,สักพวงมาลัย,เถรกวาดลาน ,ฝานลูกบวบ (ลูกไม้มวยไทย15 คัดลอกจาก สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ)

องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของนักมวยไทย

แก้ไข
  • ขนาดและความสมส่วนของร่างกาย
  • ความเข้มแข็งของร่างกายและจิตใจ
  • จิตวิญญาณของมวยไทย Spirit of muaythai ได้แก่ ความสง่างาม(Smart) ความแข็งแกร่ง(Strenght) ความมีน้ำใจไมตรี(Smile) และ ความเรียบง่าย(Simply)
  • สมาธิ ปฏิภาณ ไหวพริบ
  • ความมีอารมณ์รื่นเริงเบิกบาน อ่อนน้อม อดทน อดกลั้น
  • ความศรัทธาเชื่อมั่นกตัญญูต่อครูบาอาจารย์
  • ความไม่ประมาทและการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสม
  • ความมีน้ำใจนักกีฬา ขยันหมั่นเพียร กล้าหาญ เสียสละ
  • การเห็นคุณค่าในความงามของศิลปะการป้องกันตัวแบบมวยไทย

การฝึกฝนวิชามวยไทย

แก้ไข
  1. การสมัครตัวเป็นศิษย์ต่อสำนักเรียน/ครูมวยที่ศรัทธาเชื่อถือ
  2. การเตรียมร่างกายในด้าน ความอดทน แข็งแรง คล่องแคล่ว ว่องไว อ่อนตัว แข็งแกร่งทนทานต่อความเจ็บปวด
  3. การฝึกประสาทตา หู สัมผัส
  4. การฝึกใช้อวัยวะส่วนต่างๆตามลูกไม้ แม่ไม้เพื่อให้เกิดพิษสงที่ดีที่สุด
  5. การฝึกกับอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเพิ่มสมรรถภาพโดยรวมและโดยเฉพาะส่วน
  6. การฝึกกับคู่ซ้อม/ครู
  7. การฝึกแบบจำลองสถานการณ์จากน้อยไปหามาก
  8. การฝึกประสบการณ์ตรงโดยมีผู้แนะนำแก้ไข/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์
  9. การฝึกด้านจิตใจสำหรับนักต่อสู้ชั้นสูง
  10. การจัดโภชนาการ การบริหารความเครียด การสร้างความผ่อนคลายและการบำบัดรักษาด้วยตนเอง/ผู้เชี่ยวชาญ

กติกา

แก้ไข

ปัจจุบัน "กีฬามวยไทยอาชีพบนเวทีมวยมาตรฐาน" และ "กีฬามวยไทยสมัครเล่น" เป็นการต่อสู้ที่มีกฏกติกาชัดเจน มีนายสนามผู้ขออนุญาตจัด มีผู้จัดชก (Promoter) มีกรรมการให้คะแนนและกรรมการตัดสินชี้ขาด (Judge/Julies/Referee) กรรมการตัดสินจะต้องมีอย่างน้อย สาม คน มีกรรมการตัดสินชี้ขาดบนเวทีและกรรมการให้คะแนน การให้คะแนนนิยมให้เป็นยก ยกละ 10 คะแนน (ดูจากการใช้ศิลปะการป้องกัน การต่อสู้ ความบอบช้ำที่ได้รับ อันตรายจากบาดแผล การได้เปรียบเสียเปรียบ การคาดการณ์ผลสุดท้ายของการต่อสู้ การตัดคะแนนจากการเอารัดเอาเปรียบคู่ชกในขณะที่ไม่เหมาะสม, การถูกทำให้เสียหลักหรือล้ม, การถูกนับ ฯลฯ) ซึ่งพิจารณาโดยใช้หลักวิชาและประสบการณ์ของกรรมการที่ผ่านการตรวจสอบรับรองความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ การชกจัดเป็นยกมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาที (เดิมกำหนด 4 ถึง 6 ยก) มุ่งผลเพียงแค่ แพ้ ชนะ และการแสดงออกของศิลปะการต่อสู้ชั้นสูง ผู้ชกต้องแต่งกายตามกำหนด และมีการสวมมงคลคาดผ้าประเจียด และก่อนชกต้องมีการไหว้ครู

อุปกรณ์สำหรับนักมวยไทยที่สำคัญ

แก้ไข
  1. เครื่องแต่งกาย ได้แก่ กางเกงขาสั้น กระจับ ผ้าพันมือ นวม แบ็ค แองเกิล มงคล ผ้าประเจียด เสื้อคลุม ฟันยาง
  2. อุปกรณ์ฝึกซ้อม ได้แก่ กระสอบทราย กระสอบนวม กระสอบยางรถยนต์ ล่อเป้าหมัด ล่อเป้าเตะ-เข่า พันชิ่งบอล ดัมแบล บาเบล กระบองสั้น พลองยาว เก้าอี้ซิทอัฟ เหล็กกำ เชือกกระโดด เชือกมะนิลา รองเท้าวิ่ง กระจกเงา ยางล้อรถยนต์ฝึกการทรงตัว ยางยืด หลักหัวเสา ราวไม้ รั้วต่ำ บาร์เดี่ยว บาร์คู่ เวทีฝึกซ้อม เสื่อ ไม้นวด เตาถ่านและลูกประคบฯลฯ
  3. อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ วาสลิน กระป๋องฉีดน้ำ (ป็อกเกิล) ผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนู รองเท้าวิ่ง ถังน้ำ กระติกน้ำแข็ง เก้าอี้ เครื่องยาสำคัญ อาทิ น้ำมันมวย ยาหม่อง ยาดำ ยาขม ขมิ้นชัน ไพล บอระเพ็ด รางจืด พญาวานร หนุมานประสานกาย หมากพลู ปูนแดง สารส้ม ฯลฯ

มวยไทยมิใช่จะมีเฉพาะความเข้มแข็งของนักสู้แต่มันมากด้วยจิตวิญญานของผู้กตัญญู ผู้อ่อนโยน ผู้เป็นมิตร ผู้อดทน ผู้ให้อภัย และผู้ร่าเริงเบิกบาน บทหนึ่งของมวยไทยอาจดูกระด้าง อาจดูน่าเกรงขามแต่นั่นเพื่อตอบโต้แก่ผู้รุกราน บทหนึ่งของมวยไทยอาจดูอ่อนด้อยน่าย่ำยีแต่นั่นเป็นกลลวงสำหรับผู้ที่เย่อหยิ่งจองหองเท่านั้น และทั้งหมดนั้นผู้ที่เป็นมวยซึ่งได้ผ่านสังเวียนการต่อสู้ทั้งที่มีเกียรติและไร้เกียรติมาอย่างโชกโชนย่อมเข้าใจดีว่ามวยไทยที่เขาได้ใช้มันออกไปเพื่อแสดงอะไร

ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย มีพัฒนาการควบคู่มากับวิถีชีวิตของคนไทย จึงมีลักษณะผสมผสานด้านการต่อสู้เพื่อใช้ป้องกันตัวและต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าอื่น แล้วยังรวมเอาการแสดงศิลปะลีลาของการใช้อวัยวาวุธอันมีความหลากหลายพิสดารน่าดูไว้ด้วยตามลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชอบการแสดงออก ความสนุกสนานร่าเริงและเป็นมิตร ตลอดถึงความเป็นคนอ่อนน้อม กตัญญูรู้คุณคน ซึ่งถือเป็นหลักการของศิลปะการต่อสู้เฉพาะ ชนชาวไทย ที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากชาติใดๆ ผู้ที่เรียนรู้ ฝึกฝนจนเข้าถึงและเข้าใจจึงจะสามารถคงเอกลักษณ์นี้ไว้ได้

อ้างอิง

แก้ไข

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้ไข
  NODES