ดังโงะ (ญี่ปุ่น: 団子/だんご; โรมาจิ: dango)[1] เป็นแป้งก้อนต้มญี่ปุ่น ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวอุรูชิและแป้งข้าวเหนียว แตกต่างจากวิธีการทำโมจิที่ทำหลังจากนึ่งข้าวเหนียวแล้ว ดังโงะมักมีรูปร่างทรงกลม นิยมนำดังโงะ 3 ถึง 5 ลูกเสียบไม้และเสิร์ฟ (ไม้เสียบดังโงะเรียกว่า คุชิดังโงะ (串団子, kushi-dango)) โดยทั่วไปแล้ว ดังโงะจัดเป็นประเภทของวากาชิ และมักจะเสิร์ฟพร้อมชาเขียว รับประทานได้ตลอดทั้งปี แต่นิยมรับประทานรูปแบบต่าง ๆ กันตามฤดูกาล
ดังโงะหลากหลายชนิดมักจะตั้งชื่อตามเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ที่เสิร์ฟบนดังโงะหรือเสิร์ฟพร้อมกับดังโงะ[2]
ดังโงะที่ได้รับความนิยม
แก้
- อังโกดังโงะ (あんこ団子, Anko dango) โดยทั่วไปจะหุ้มด้วยถั่วแดงกวน ส่วนผสมอื่นนอกเหนือถั่วอาซูกิจะใช้ในโอกาสพิเศษ ของแต่งหน้าอื่น ๆ สำหรับอังโกะ ได้แก่ ซุนดะ (ずんだ, zunda) ทำจากถั่วแระญี่ปุ่นและคูรูมิ (วอลนัตกวน)
- ชาดังโงะ (茶団子, Cha dango) เป็นดังโงะรสชาเขียว (มัตจะ)[3]
- โชยูดังโงะ (醤油だんご, Shoyu dango) เป็นดังโงะย่าง (ยากิดังโงะ (焼き団子, yaki dango)) ที่ปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลือง (โชยุ) ยังมีแบบที่ห่อสาหร่ายโนริเรียกว่า อิโซเบดังโงะ (磯辺団子, isobe dango)
- โกมาดังโงะ (ごま団子, Goma dango) เป็นดังโงะที่คลุมด้วยงากวน มีรสทั้งหวานและเค็ม
- ฮานามิดังโงะ (花見だんご, Hanami dango) เป็น ซันโชกูดังโงะ (三色団子, sanshoku dango) ที่รับประทานระหว่างเทศกาลชมดอกไม้ (ฮานามิ) มีสามสี (ชมพู เขียว ขาว) และปรุงขึ้นตามธรรมเนียมในช่วงฤดูชมซากูระ จึงได้ชื่อว่า ฮานามิดังโงะนี้ (ฮานามิ มีความหมายว่า "ชมดอกไม้"; ฮานะ มีความหมายว่า "ดอกไม้" และ มิ มีความหมายว่า "ดู" หรือ "ชม") กล่าวกันว่าลำดับของดังโงะสามสีหมายถึงลำดับที่ดอกซากูระบาน สีชมพูหมายถึงดอกตูมของซากูระ สีขาวหมายถึงดอกซากูระที่บานสะพรั่ง และสีเขียวหมายถึงซากูระที่ผลิใบหลังจากดอกโรยแล้ว
- คิบิดังโงะ (きび団子, Kibi dango) เป็นดังโงะที่ทำจากแป้งข้าวฟ่าง ดังโงะรูปแบบนี้มีชื่อเสียงจากการที่ปรากฏในนิทานเรื่องโมโมตาโร เรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษชาวบ้านชื่อโมโมตาโรผู้มอบคิบิดังโงะสามลูกให้กับสัตว์พูดได้สามตัวคือสุนัข ลิง และไก่ฟ้า เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สัตว์ทั้งสามต้องมาช่วยโมโมตาโรในการต่อสู้กับยักษ์
- คินาโกะดังโงะ (きなこ団子, Kinako dango) ทำจากแป้งถั่วเหลืองย่าง
- คูซาดังโงะ หรือ โยโมงิดังโงะ (草団子 หรือ よもぎ団子, Kusa dango หรือ yomogi dango) เป็นดังโงะที่แป้งผสมด้วยใบของโยโมงิ (โกฐจุฬาลัมพาญี่ปุ่น) เช่นเดียวกับในคูซาโมจิ มักหุ่มด้วยอังโกะ
- มิตาราชิดังโงะ (みたらし団子, Mitarashi dango) เป็นดังโงะที่หุ้มด้วยน้ำเชื่อมที่ทำจาก โชยุ (ซอสถั่วเหลือง) น้ำตาล และแป้ง
- ซาซาดังโงะ (笹団子, Sasa dango) ผลิตและรับประทานในจังหวัดนีงาตะเป็นหลัก ซาซาดังโงะ มีสองแบบคือ อนนาดังโงะ และ โอโตโกดังโงะ อนนาดังโงะ (แปลว่า "ดังโงะผู้หญิง") ยัดไส้ด้วย อังโกะ ส่วน โอโตโกดังโงะ (แปลว่า "ดังโงะผู้ชาย") ยัดไส้ด้วยคินปิระ ดังโงะห่อด้วยใบของต้นซาซะเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บรักษา
- ชิราตามาดังโงะ (白玉だんご, Shiratama dango) รับประทานในอันมิตสึหรือมิตสึมาเมะ
- สึกิมิดังโงะ (月見だんご, Tsukimi dango) เป็นดังโงะสีขาวที่รับประทานระหว่างระหว่างเทศกาลชมจันทร์ (สึกิมิ) ปรุงขึ้นในช่วงจันทร์เพ็ญของฤดูใบไม้ร่วง (เทศกาลไหว้พระจันทร์)
- บตจังดังโงะ (坊っちゃん団子, Botchan dango) มีสามสี สีที่หนึ่งมาจากถั่วแดง สีที่สองมาจากไข่ และสีที่สามมาจากชาเขียว บตจังดังโงะเป็นชื่อผลิตภัณฑ์มิยาเงงาชิของจังหวัดเอฮิเมะ ตั้งชื่อตามนวนิยายเรื่อง โบ๊ทจัง (บตจัง) ผลงานของนัตสึเมะ โซเซกิ
- ชิจิดังโงะ (乳団子, Chichi dango) เป็นของว่างที่มีรสหวานเล็กน้อย มักรับประทานเป็นของหวาน
- เด็นปุนดังโงะ (でんぷん団子, Denpun dango) เป็นดังโงะจากจังหวดฮกไกโดทำจากแป้งมันฝรั่งและอบกับถั่วต้มหวาน
- คูริดังโงะ (栗だんご, Kuri dango) เป็นดังโงะที่หุ้มด้วยเกาลัดกวน
- นิกูดังโงะ (肉団子, Niku dango) เป็นลูกชิ้นญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง[4] นิกูดังโงะที่ทำจากเนื้อไก่เสียบไม้เรียกว่า สึกูเนะ