ลูกอ๊อด (อังกฤษ: Tadpole, Pollywog, Porwigle) หรือ ลูกฮวก หรือ อีฮวก ในภาษาอีสานหรือภาษาเหนือ เป็นชื่อเรียกของตัวอ่อนของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับกบ (Anura) เมื่อโตเต็มวัย ลูกอ๊อดจะมีรูปร่างเช่นเดียวกบปกติทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังมีกบบางชนิดที่ไม่มีช่วงวัยลูกอ๊อด

ลักษณะโดยทั่วไปของลูกอ๊อด และลักษณะของปาก
ลูกอ๊อดของกบในวงศ์ Bufonidae

ลูกอ๊อด มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายปลา มีหาง ไม่มีขา หายใจด้วยเหงือก ส่วนหัวมีขนาดโตมาก ซึ่งลูกอ๊อดของกบแต่ละวงศ์ก็มีรูปร่างและลักษณะแตกต่างออกไป โดยแบ่งตามโครงสร้างของปาก, โครงสร้างของห้องเหงือก, และจำนวนและตำแหน่งของช่องเปิดเหงือกที่เป็นทางผ่านออกของน้ำซึ่ง สามารถจำแนกเป็น 4 แบบได้ คือ

1. มีช่องปากยาวและแคบ ไม่มีจะงอยปากและไม่มีตุ่มฟันบริเวณปาก ช่องเปิดห้องเหงือกมี 2 ช่องอยู่ทางด้านข้างของลำตัว กินอาหารด้วยการกรองเข้าปาก เช่น กบในวงศ์ Pipidae

2. มีช่องปากเล็กและซับซ้อนมากกว่าแบบที่ 1 แต่ไม่มีจะงอยปากและไม่มีตุ่นฟันที่บริเวณปาก ช่องเปิดของห้องเหงือกมีช่องเดียวอยู่ทางด้านท้ายตัวและในแนวกลางลำตัว กินอาหารด้วยการกรอง เช่น กบในวงศ์ Microhylidae

3. ช่องปากมีจะงอยปากและมีตุ่มฟัน ช่องเปิดของห้องเหงือกมีช่องเดียวอยู่ในแนวตรงกลางลำตัว ได้แก่ กบในวงศ์ Ascaphidae, Bombinatoridae, Discoglossidae

4. ช่องปากมีจะงอยปากและมีตุ่มฟัน ช่องเปิดของห้องเหงือกมีช่องเดียวอยู่ทางด้านข้างลำตัวและทางซ้ายของลำตัว ซึ่งลักษณะของกบส่วนใหญ่

นอกจากนี้แล้ว ลูกอ๊อดแต่ละชนิดจะมีรูปร่างต่างกันแล้ว ยังมีระบบนิเวศที่อาศัยแตกต่างกันอีก ลูกอ๊อดบางชนิดจะว่ายน้ำระดับผิวน้ำหรือกลางน้ำและกินอาหาร แต่บางชนิดจะไม่กินอาหารแต่จะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดมาจากไข่แทน บางชนิดเกาะติดอยู่กับก้อนหินหรือโขดหินในลำธารที่มีน้ำไหลแรง บางชนิดซุกซ่อนตัวอยู่ในโคลนที่ใต้พื้นน้ำ ขณะที่บางชนิดจะอยู่ในน้ำบนใบไม้[1]

ลูกอ๊อด สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้ในอาหารพื้นบ้านแบบอีสานหรืออาหารเหนือ เช่น แอ็บ, หมก หรือน้ำพริก[2]

อ้างอิง

แก้
  1. หน้า 316-317, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  2. รัตนา พรหมพิชัย. (2542). แอ็บ. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 15, หน้า 8111-8112).กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  NODES
os 1