สำเนียง
ในทางภาษาศาสตร์สังคม สำเนียง (อังกฤษ: accent) คือวีธีการออกเสียงที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ท้องที่ หรือชาติหนึ่ง ๆ[1] สำเนียงอาจผูกพันกับถิ่นที่อยู่ของผู้พูด (สำเนียงภูมิภาคหรือภูมิศาสตร์) สถานะทางเศรษฐกิจสังคม ชาติพันธุ์ วรรณะหรือชนชั้นทางสังคม (สำเนียงทางสังคม) หรืออิทธิพลจากภาษาแม่ของพวกเขา (สำเนียงต่างประเทศ)[2]
โดยปกติสำเนียงจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะของเสียง การออกเสียง และการบ่งความต่างของเสียงสระและพยัญชนะ การเน้นน้ำหนักพยางค์ (stress) และสัทสัมพันธ์ (prosody)[3] แม้ว่าบ่อยครั้งไวยากรณ์ ความหมาย วงศัพท์ และลักษณะทางภาษาอื่น ๆ จะแปรควบคู่กันไปกับสำเนียง แต่คำว่า "สำเนียง" ก็อาจหมายถึงความแตกต่างด้านการออกเสียงโดยเฉพาะ ในขณะที่คำว่า "ภาษาย่อย" หรือ "ภาษาถิ่น" นั้นครอบคลุมความแตกต่างทางภาษาศาสตร์ในวงกว้างกว่า และบ่อยครั้งที่ "สำเนียง" กลายเป็นหน่วยย่อยของ "ภาษาย่อย" หรือ "ภาษาถิ่น"[1]
พัฒนาการ
แก้เด็ก ๆ รับสำเนียงมาใช้ได้ค่อนข้างเร็ว เด็ก ๆ จากครอบครัวผู้อพยพเข้าเมืองมักออกเสียงเลียนเจ้าของสำเนียงได้ดีกว่าพ่อแม่ แต่ทั้งเด็กและพ่อแม่ก็อาจมีสำเนียงที่ไม่เหมือนเจ้าของภาษาอย่างสังเกตได้ชัด[4] ดูเหมือนว่าสำเนียงของบุคคลหนึ่ง ๆ จะถูกหล่อหลอมดัดแปลงได้จนกระทั่งบุคคลนั้นมีอายุยี่สิบปีต้น ๆ หลังจากนั้นสำเนียงก็จะเริ่มหยั่งรากลึกมากขึ้น[5]
ถึงกระนั้น สำเนียงอาจจะไม่ได้คงที่อย่างสมบูรณ์แม้ในวัยผู้ใหญ่ การวิเคราะห์ทางกลสัทศาสตร์ของถ้อยคำอวยพรวันคริสต์มาสจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยจอนาทัน แฮร์ริงตัน เปิดเผยว่า แม้กระทั่งรูปแบบการพูดของบุคคลแนวอนุรักษนิยมอย่างกษัตริย์หรือกษัตรีย์พระองค์หนึ่ง ๆ ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ตลอดช่วงชีวิต[6]
สำเนียงที่ไม่เหมือนเจ้าของภาษา
แก้ปัจจัยสำคัญในการคาดคะเนระดับสำเนียงว่าจะมีความเด่นชัด (หรือความแปร่ง) เพียงใดคืออายุขณะเรียนรู้ภาษาที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา[7][8] ทฤษฎีช่วงอายุเอื้อการเรียนภาษาระบุว่า หากการเรียนรู้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่เกิดขึ้นหลังช่วงอายุเอื้อการเรียนภาษา (โดยทั่วไปจัดว่าอยู่ในวัยแรกเกิดจนถึงวัยแรกรุ่น) บุคคลหนึ่ง ๆ ไม่น่าจะได้สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษา อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ค่อนข้างเป็นที่โต้เถียงในหมู่นักวิจัย[9] แม้ว่านักวิจัยหลายคนจะเห็นพ้องกับทฤษฎีนี้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พวกเขาก็กำหนดช่วงอายุเอื้อการเรียนภาษาไว้ก่อนวัยแรกรุ่น หรือไม่ก็พิจารณาว่ามันมีลักษณะเป็น "ช่วงโอกาส" ที่สำคัญมากกว่า ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลและยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากอายุ เช่น ระยะเวลาพำนักอาศัย ความคล้ายคลึงกันระหว่างภาษาแม่กับภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ ความถี่ในการใช้ภาษาทั้งสอง เป็นต้น[8]
อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ ที่มีอายุน้อยเพียง 6 ปีในขณะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นมักพูดสำเนียงที่ไม่เหมือนเจ้าของภาษาอย่างสังเกตได้ชัดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พบได้ยากของบุคคลที่เข้าถึงสำเนียงระดับเจ้าของภาษาได้แม้พวกเขาจะเรียนรู้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น[10] อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเงื่อนไขทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองจะจำกัดความสามารถของผู้พูดส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา[11] นักวิจัยส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า สำหรับผู้ใหญ่แล้ว การได้สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษาในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย[7]
ปัจจัยทางสังคม
แก้เมื่อกลุ่มหนึ่ง ๆ ได้กำหนดการออกเสียงมาตรฐานในภาษา ผู้พูดที่ออกเสียงต่างออกไปมักถูกเรียกว่า "พูดติดสำเนียง"[9] อย่างไรก็ตาม ทุกคนย่อมพูดติดสำเนียงใดสำเนียงหนึ่ง[2][12] ชาวอเมริกันพูด "ติดสำเนียง" ในสายตาของชาวออสเตรเลีย และชาวออสเตรเลียก็ "พูดติดสำเนียง" ในสายตาของชาวอเมริกัน สำเนียงอย่างสำเนียงบีบีซีอังกฤษหรือสำเนียงมาตรฐานอเมริกันบางครั้งอาจถูกระบุอย่างผิดพลาดในประเทศต้นกำเนิดว่า "ไม่มีสำเนียง" เพื่อบ่งชี้ว่าสำเนียงเหล่านี้ไม่ได้ให้เงื่อนงำที่ชัดเจนเกี่ยวกับภูมิหลังทางภูมิภาคหรือสังคมของผู้พูด[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 The New Oxford American Dictionary. Second Edition. Oxford University Press. 2005. ISBN 978-0-19-517077-1.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Lippi-Green, R. (1997). English with an Accent: Language, Ideology, and Discrimination in the United States. New York: Routledge. ISBN 978-0-415-11476-9.
- ↑ Crystal, David (2008). A Dictionary of Language and Linguistics. Malden-Oxford: Blackwell.
- ↑ Flege, James Emil; David Birdsong; Ellen Bialystok; Molly Mack; Hyekyung Sung; Kimiko Tsukada (2006). "Degree of foreign accent in English sentences produced by Korean children and adults". Journal of Phonetics. 34 (2): 153–175. doi:10.1016/j.wocn.2005.05.001.
- ↑ "Ask a Linguist FAQ: Accents". LINGUIST List. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-08. สืบค้นเมื่อ 2016-04-10.
- ↑ Harrington, Jonathan (2006). "An Acoustic Analysis of 'Happy Tensing' in the Queen's Christmas Broadcasts". Journal of Phonetics. 34 (4): 439–57. CiteSeerX 10.1.1.71.8910. doi:10.1016/j.wocn.2005.08.001.
- ↑ 7.0 7.1 Scovel, T. (2000). "A critical review of the critical period research." Annual Review of Applied Linguistics, 20, 213–223.
- ↑ 8.0 8.1 Piske, T., MacKay, I. R. A., & Flege, J. E. (2001). "Factors affecting degree of foreign accent in an L2: A review." Journal of Phonetics, 29, 191–215.
- ↑ 9.0 9.1 Mahdi, Rahimian (2018). "Accent, intelligibility, and identity in international teaching assistants and internationally-educated instructors". hdl:1993/33028.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Bongaerts, T., van Summeren, C., Planken, B., & Schils, E. (1997). "Age and ultimate attainment in the pronunciation of a foreign language." Studies in Second Language Acquisition, 19, 447–465.
- ↑ Long, M. H. (1990). "Maturational constraints on language development." Studies in Second Language Acquisition, 12, 251–285.
- ↑ Matsuda, M. J. (1991). "Voices of America: Accent, antidiscrimination law, and a jurisprudence for the last reconstruction." Yale Law Journal, 100, 1329–1407.