ฮุยโฮ
ฮุยโฮ (ราว คริสต์ทศวรรษ 220–ค.ศ. 263) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หฺวาง เฮ่า (จีน: 黃皓; พินอิน: Huáng Hào) เป็นขันทีและขุนนางชาวจีนผู้รับใช้เล่าเสี้ยน (ครองราชย์ ค.ศ. 223-263) จักรพรรดิลำดับที่ 2 และลำดับสุดท้ายของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) ฮุยโฮได้รับความโปรดปรานจากเล่าเสี้ยนและขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูง ฮุยโฮสามารถเลื่อนตำแหน่งให้ผู้ติดตามและลดตำแหน่งผู้ที่ต่อต้านตน ซึ่งส่งผลเสียโดยรวมต่อวิธีการปกครองที่ดีของรัฐ เมื่อเกียงอุยขุนพลผู้นำทัพจ๊กก๊กพยายามทูลเตือนจักรพรรดิเล่าเสี้ยนในเรื่องการบุกของรัฐวุยก๊กที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ฮุยโฮทูลแนะนำเล่าเสี้ยนว่าการบุกจะไม่เกิดขึ้น เป็นผลทำให้รัฐจ๊กก๊กไม่ได้เตรียมพร้อมรับการบุกจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก แล้วทำให้จักรพรรดิเล่าเสี้ยนจำต้องยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในปี ค.ศ. 263
ฮุยโฮ (หฺวาง เฮ่า) | |
---|---|
黃皓 | |
นายกองร้อยราชรถ (奉車都尉 เฟิ่งเชอตูเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 258 – ค.ศ. 263 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ผู้ถวายงานกลาง (中常侍 จงฉางชื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 258 – ค.ศ. 263 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ผู้ช่วยสำนักประตูเหลือง (黃門丞 หฺวางเหมินเฉิง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
อาชีพ | ขันที, ขุนนาง |
ประวัติ
แก้ฮุยโฮเข้ามาในพระราชวังของจ๊กก๊กในช่วงคริสต์ทศวรรษ 220 ในฐานะขันทีผู้รับใช้เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กผู้ทรงโปรดปรานฮุยโฮเพราะฮุยโฮฉลาดหลักแหลมและทูลด้วยคำประจบสอพลอ[1] เมื่อใดที่ฮุยโฮพยายามแทรกแซงราชการของรัฐ ตั๋งอุ๋นซึ่งเวลานั้นเป็นหัวหน้าขุนนางในราชสำนักจึงทูลเตือนเล่าเสี้ยนในเรื่องความอันตรายของคำประจบสอพลอและตักเตือนฮุยโฮไม่ให้ทูลชี้นำไปในทางที่ผิด ในช่วงเวลาที่ตั๋งอุ๋นมีชีวิตอยู่ ได้คอยตรวจสอบฮุยโฮและไม่ยอมให้ฮุยโฮได้รับการเลื่อนตำแหน่งเกินกว่าตำแหน่งผู้ช่วยสำนักประตูเหลือง (黃門丞 หฺวางเหมินเฉิง)[2]
หลังจากตั๋งอุ๋นเสียชีวิตเมื่อประมาณเดือนธันวาคม ค.ศ. 246 เฉิน จือ (陳祗) ขึ้นมาแทนที่ตั๋งอุ๋นในฐานะหัวหน้าขุนนางในราชสำนัก และร่วมกับฮุยโฮในการครอบงำราชสำนักและราชการของรัฐ เล่าเสี้ยนทรงตำหนิตั๋งอุ๋นผู้ล่วงลับว่าปฏิบัติต่อพระองค์ด้วยการดูหมิ่น เชื่อกันว่าพระองค์ตรัสเช่นนี้เพราะทรงถูกยุยงโดยฮุยโฮและเฉิน จือ เมื่อเฉิน จือเสียชีวิตในปี ค.ศ. 258 ฮุยโฮขึ้นมาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในราชสำนักจ๊กก๊กในนครหลวงเซงโต๋ เล่าเสี้ยนทรงเลื่อนขั้นให้ฮุยโฮมีตำแหน่งเป็นผู้ถวายงานกลาง (中常侍 จงฉางชื่อ) และนายกองร้อยราชรถ (奉車都尉 เฟิ่งเชอตูเว่ย์)
ฮุยโฮใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมโดยการเลื่อนตำแหน่งให้ข้าราชการที่เป็นผู้สนับสนุนของตน และลดตำแหน่งผู้ที่ต่อต้านตน เมื่อหลัว เซี่ยน (羅憲) ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับฮุยโฮ ฮุยโฮจึงให้ส่งหลัว เซี่ยนไปไกลจากนครหลวงเซงโต๋ให้ไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองปาตง (巴東郡 ปาตงจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่งในปัจจุบัน)[3] เงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) สหายสนิทของฮุยโฮผู้รับราชการเป็นแม่ทัพเมืองปาตง (巴東都督 ปาตงตูตู) ตั้งให้หลัว เซียนเป็นรองแม่ทัพของตนเพราะเงียมอูมองหลัว เซียนในแง่ดีสูง ฮวนเกี๋ยนผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ปฏิเสธที่จะติดต่อกับฮุยโฮ ฮุยโฮไม่ชอบขับเจ้ง ขุนนางราชสำนักผู้คุ้นเคยกับการติดต่อกับฮุยโฮเป็นเวลาประมาณ 30 ปี แม้ว่าฮุยโฮไม่ได้ทำอันตรายขับเจ้งแต่ก็ไม่เคยให้ขับเจ้งได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เล่าเอ๋งพระอนุชาของเล่าเสี้ยนทรงเกลียดชังฮุยโฮและไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฮุยโฮ หลังฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจ ได้ทูลว่าร้ายเล่าเอ๋งต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าเล่าเสี้ยน เป็นผลทำให้เล่าเสี้ยนทรงปฏิเสธที่จะพบกับเล่าเอ๋งเป็นเวลามากกว่า 10 ปี[4]
ในปี ค.ศ. 262 เกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยนเพื่อทูลเรียกร้องให้ประหารชีวิตฮุยโฮ แต่เล่าเสี้ยนทรงปฏิเสธ ตรัสว่าฮุยโฮเป็นเพียงข้ารับใช้ที่คอยทำธุระให้พระองค์ และตรัสบอกเกียงอุยว่าไม่ควรไปโกรธแค้นฮุยโฮ เกียงอุยรู้ว่าฮุยโฮมีผู้สนับสนุนจำนวนมากในราชสำนัก จึงกังวลว่าตนอาจจะไม่เป็นที่โปรดปรานของเล่าเสี้ยนเมื่อตนทูลขอเล่าเสี้ยนให้ประหารชีวิตฮุยโฮ ต่อมาเล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้ฮุยโฮขอขมาต่อเกียงอุย เกียงอุยจึงหาข้ออ้างเพื่อออกจากนครหลวงเซงโต๋แล้วย้ายไปยังกองทหารประจำการที่ท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในขณะเดียวกัน ฮุยโฮพยายามปลดเกียงอุยจากอำนาจบัญชาทหารและตั้งเงียมอูสหายสนิทของตนขึ้นแทนที่ เกียงอุยได้ยินเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่ท่าจงและปฏิเสธที่จะกลับไปเซงโต๋เพราะรู้ว่าตนจะปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ท่าจง
ในปี ค.ศ. 263 เกียงอุยได้รับข่าวว่าจงโฮยขุนพลของรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊กกำลังเคลื่อนพลมาในภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) มีท่าทีจะเตรียมเข้าบุกจ๊กก๊ก เกียงอุยจึงเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยน ทูลขอตั้งแนวป้องกันเพื่อรับมือการบุกที่กำลังจะมาถึง ฮุยโฮเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์จึงไปหาหมอผีเพื่อให้ทำนายอนาคต แล้วจึงทูลเล่าเสี้ยนว่าหมอผีทำนายว่าทัพวุยก๊กจะไม่โจมตีจ๊กก๊ก จึงไม่จำเป็นต้องทำตามแผนของเกียงอุย ภายหลังในปีเดียวกัน เตงงายขุนพลวุยก๊กนำกำลังทหารผ่านทางลัดข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เลี่ยงแนวป้องกันของจ๊กก๊ก และมาถึงด้านนอกของนครเซงโต๋ เล่าเสี้ยนทรงยอมจำนนโดยไม่รบ นำไปสู่การล่มสลายของจ๊กก๊ก หลังจากที่เล่าเสี้ยนทรงยอมจำนน เตงงายได้ยินว่าฮุยโฮเป็นคนไม่น่าไว้วางใจจึงต้องการประหารชีวิตฮุยโฮ แต่ฮุยโฮติดสินบนคนของเตงงายไว้ก่อนแล้วเพื่อให้ช่วยปล่อยตัว แล้วฮุยโฮก็หลบหนีไปได้ ไม่ทราบแน่ชัดถึงชะตากรรมสุดท้ายของฮุยโฮ
ในนิยายสามก๊ก
แก้ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 119 ฮุยโฮถูกประหารชีวิตต่อสาธารณชนตามคำสั่งของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก หลังฮุยโฮติดตามเล่าเสี้ยนไปยังลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้).