แสตมป์
แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร (อังกฤษ: Postage stamp หรือ Stamp) เป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์ มักเป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมเพื่อติดบนซองจดหมาย แสตมป์ที่มีรูปร่างหรือทำจากวัสดุอื่นก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง
แสตมป์มักพิมพ์ออกเป็นแผ่น ประกอบด้วยแสตมป์หลายดวง ปกติอยู่ระหว่าง 20 ถึง 120 ดวง มีการปรุรู รอบดวงแสตมป์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการฉีก รอยฉีกที่ได้เรียกว่า ฟันแสตมป์ ด้านหลังแสตมป์มีกาวเคลือบอยู่ กระดาษที่ใช้พิมพ์มักมีสิ่งพิเศษไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลง เช่น ลายน้ำ (watermark) หรือ ด้ายสี
หากติดแสตมป์เพื่อใช้งานบนซองแล้ว ต้องมีการประทับตราทุกครั้ง เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก
การสะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
ประวัติศาสตร์
แก้แนวคิดเรื่องการใช้แสตมป์เป็นค่าไปรษณีย์ริเริ่มโดยนาย เจมส์ ชาลเมอส์ (James Chalmers) ชาวสกอตแลนด์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) ซึ่งความคิดดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับต่อมาใน พ.ศ. 2382 ภายใต้การผลักดันของ เซอร์ โรว์แลนด์ ฮิลล์ (Sir Rowland Hill) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 ก็ได้ออกแสตมป์ดวงแรกของโลกคือ แสตมป์เพนนีแบล็ค (Penny Black) มีราคาหน้าดวง 1 เพนนี ซึ่งเป็นอัตราค่าไปรษณีย์สำหรับจดหมาย สามารถส่งได้ทุกปลายแห่งด้วยอัตราเดียวกันและเริ่มมีผลบังคับใช้ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ออกแสตมป์ สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union หรือ UPU) กำหนดให้สหราชอาณาจักรเป็นชาติเดียวที่ยกเว้นไม่ต้องพิมพ์ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ดังเช่นของประเทศอื่น ๆ
แสตมป์ชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ชุดที่หนึ่ง หรือ ชุดโสฬศ ออกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ประกอบด้วยแสตมป์ราคา หนึ่งโสฬส (ครึ่งอัฐ) , หนึ่งอัฐ, หนึ่งเสี้ยว (สองอัฐ) , หนึ่งซีก (สี่อัฐ) , หนึ่งสลึง (สิบหกอัฐ) แสตมป์อีกดวงราคาหนึ่งเฟื้อง (แปดอัฐ) มาถึงล่าช้าและไม่มีการใช้งานจริงทางไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์ (Waterlow and Sons) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในช่วงนั้นไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้จึงยังไม่มีชื่อประเทศปรากฏบนดวง ส่วนแสตมป์ที่สั่งพิมพ์ชุดต่อ ๆ มาเป็นไปตามกฎของสหภาพสากลไปรษณีย์ กล่าวคือ มี ชื่อประเทศและราคาในภาษาอังกฤษ และ มีคำว่า "postage" ซึ่งหมายถึงเป็นการชำระค่าไปรษณีย์
ประเภทของแสตมป์
แก้เราสามารถจำแนกแสตมป์ได้หลายแบบ โดยทั่วไปนิยมแบ่งเป็นสองสามประเภท ได้แก่ แสตมป์ทั่วไป แสตมป์ที่ระลึก บางครั้งก็เพิ่ม แสตมป์พิเศษ เข้าไปอีกประเภทหนึ่ง
แสตมป์ทั่วไป
แก้แสตมป์ที่พิมพ์เพื่อการใช้งานไปรษณีย์เป็นหลัก เรียกว่า แสตมป์ทั่วไป (definitive stamp) ถือเป็นแสตมป์ประเภทแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น เพราะค่าไปรษณีย์มีหลายอัตราขึ้นกับน้ำหนัก ที่หมาย ความด่วนของการส่ง การรับประกันการสูญหาย เป็นต้น แสตมป์ทั่วไปมักพิมพ์หลายราคา โดยแต่ละราคารูปมีแบบเหมือนกัน มีจำนวนที่พิมพ์สูง และอาจมีการพิมพ์เพิ่มเติมหลายครั้ง
ภาพที่นิยมใช้บนแสตมป์ทั่วไป ได้แก่ ภาพพระมหากษัตริย์ของประเทศนั้น ๆ กรณีที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ภาพสวยงามอื่นซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น ดอกไม้ สัตว์ สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งแสตมป์ดวงแรกของโลกเป็นภาพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สำหรับประเทศไทยนิยมใช้ภาพพระมหากษัตริย์ไทยบนดวงแสตมป์ทั่วไป เรียกว่าแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ แต่ปัจจุบันมีการใช้รูปอื่น เช่น รูปธงชาติ รูปช้าง บนดวงแสตมป์ด้วย
แสตมป์ที่ระลึก
แก้แสตมป์ที่ระลึก (commemorative stamp) เป็นแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสทั่วไป และพิมพ์เป็นจำนวนจำกัด เมื่อจำหน่ายหมดแล้วก็ไม่มีการพิมพ์เพิ่ม มีได้หลายลักษณะ เช่น
- เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ที่สำคัญ หรือ วันครบรอบของบุคคลสำคัญ
- เป็นที่ระลึกเนื่องในกิจกรรมพิเศษ เช่น งานกาชาด หรือ วันสำคัญของปี เช่น วันสงกรานต์ วันวาเลนไทน์
- สำหรับเผยแพร่เรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ ธรรมชาติ, งานศิลปะ เช่น แมวไทย, จิตรกรรมฝาผนัง, อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
แสตมป์ที่ระลึกประเภทหลังมีอีกชื่อเรียกว่าแสตมป์พิเศษ (special stamp) และอาจจัดแสตมป์ที่ระลึกประเภทที่สองเป็นแสตมป์พิเศษด้วยก็ได้
แสตมป์ที่ระลึกเกิดขึ้นมาภายหลังเมื่อความนิยมการสะสมแสตมป์เพิ่มขึ้น แสตมป์ที่พอจะจัดเป็นแสตมป์ที่ระลึกดวงแรก ๆ เช่น แสตมป์ของสหรัฐอเมริการูปอับราฮัม ลิงคอล์น ที่ออกใน พ.ศ. 2409 ภายหลังที่เขาถูกลอบสังหารในปีก่อนหน้า แต่ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าออกเพื่อการไว้อาลัย แสตมป์ดวงแรกที่มีข้อความแสดงเหตุการณ์ที่ระลึกคือแสตมป์ของนิวเซาท์เวลส์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย) ที่ออกในปี พ.ศ. 2431 มีข้อความว่า "ONE HUNDRED YEARS" ออกมาเพื่อฉลองครบรอบร้อยปีของการก่อตั้ง แสตมป์ที่ระลึกชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5
แสตมป์เพื่อใช้งานเฉพาะกรณี
แก้แสตมป์ทั่วไปบางดวงจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะทาง ตัวอย่างเช่นแสตมป์สำหรับอากาศไปรษณีย์ (airmail) แสตมป์สำหรับองค์กรที่ส่งจดหมายทีละมาก ๆ (bulk mail) ซึ่งมีราคาบนดวงแสตมป์ตรงกับอัตราค่าส่งแบบพิเศษนั้น ๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือแสตมป์ที่พิมพ์เพื่อใช้งานโดยหน่วยงานของรัฐบาล (official stamp) ซึ่งประเทศไทยเคยออกแสตมป์แบบนี้เรียกว่าแสตมป์ทดสอบสถิติราชการ ออกมาใช้งานช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อเก็บสถิติการส่งไปรษณีย์ของหน่วยงานแต่ละแห่งของรัฐบาล
แสตมป์แบบอื่น ๆ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะ
แก้แสตมป์ต่าง ๆ ต่อไปนี้ ไม่ได้แยกประเภทต่างหากจากแสตมป์ทั่วไปและแสตมป์ที่ระลึกที่กล่าวไว้ข้างบน แต่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว และมีชื่อเรียกเฉพาะ
แสตมป์พิมพ์แก้
แก้แสตมป์ต่าง ๆ ที่นำออกมาจำหน่ายและใช้งานทางไปรษณีย์ไม่จำเป็นต้องเป็นแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นใหม่เสมอ แต่อาจเป็นแสตมป์พิมพ์แก้ (overprint) คือแสตมป์ของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาพิมพ์เพิ่มเติมบางอย่างลงบนตัวแสตมป์ แสตมป์พิมพ์แก้มีทั้งแสตมป์ทั่วไปและแสตมป์ที่ระลึก ตัวอย่างแสตมป์พิมพ์แก้เพื่อเป็นที่ระลึกของไทย เช่นงานกาชาดบางปี
แสตมป์พิมพ์แก้ที่ใช้เป็นแสตมป์ทั่วไป อาจมีวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์ต่าง ๆ กันเช่น นำแสตมป์ของประเทศหนึ่งพิมพ์ข้อความเพิ่มเพื่อนำไปใช้ในดินแดนอาณานิคม และนำแสตมป์ราคาหนึ่งมาแก้ไขเป็นอีกราคาหนึ่ง เรียกว่า พิมพ์แก้ราคา (surcharge) ใช้กรณีที่ไปรษณีย์ขาดแคลนแสตมป์บางราคา หรือมีการปรับเปลี่ยนหน่วยเงินตรา และใช้งานระหว่างที่รอแสตมป์ราคาที่ขาดแคลนพิมพ์เสร็จ แสตมป์พิมพ์แก้พบมากในแสตมป์ยุคแรก ๆ เนื่องจากการพิมพ์และการขนส่งใช้เวลานาน
แสตมป์ส่วนตัว
แก้แสตมป์ส่วนตัว (personalized stamp) คือแสตมป์ที่ด้านข้างมีภาพอื่นซึ่งผู้ที่ซื้อแสตมป์ สามารถนำมาใส่ได้ เช่น ภาพถ่าย ซึ่งตามงานแสดงต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดให้บริการในช่วงหลัง ๆ มักมีบริการถ่ายรูปเพื่อพิมพ์ลงบนแสตมป์ส่วนตัวด้วย แสตมป์ดังกล่าวสามารถใช้จริงทางไปรษณีย์ได้ แต่ต้องติดส่วนที่เป็นภาพถ่ายและแสตมป์ไปคู่กัน
แสตมป์ตลก
แก้สำหรับแสตมป์ที่มีความผิดปกติระหว่างการพิมพ์ เรียกว่า แสตมป์ตลก (error หรือ variety) ซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเพียงบางแผ่น เช่น หมึกเลอะ, ปรุรูเคลื่อน, พิมพ์ซ้ำ หรือเกิดจากรอยตำหนิบนแม่พิมพ์ ซึ่งมีผลให้แสตมป์ตรงตำแหน่งดังกล่าวของทุกแผ่นมีความผิดพลาดทั้งหมด แสตมป์ตลกสามารถใช้งานได้จริงทางไปรษณีย์ และเป็นที่นิยมสะสมโดยแสตมป์ตลกบางดวงมีค่ามากกว่าแสตมป์จริงเสียอีกเพราะมีปริมาณน้อยมาก
วิธีการจำหน่ายแสตมป์
แก้แสตมป์รูปแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม คือ พิมพ์เป็นแผ่นและฉีกขายที่ไปรษณีย์ แต่เพื่อความสะดวกกับผู้ใช้บริการไปรษณีย์จึงมีการพัฒนารูปแบบอื่น ๆ ตามมา รูปแบบหนึ่งที่นิยมคือ สมุดตราไปรษณียากร หรือ สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (stamp booklet) ซึ่งมีลักษณะเป็นเล่มภาย ในบรรจุแสตมป์จำนวนหนึ่ง สามารถฉีกออกมาติดจดหมายได้ อาจจำหน่ายทางที่ทำการไปรษณีย์ ตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
มีแสตมป์อีกแบบที่พิมพ์ขึ้นสำหรับจำหน่ายผ่านตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ เรียกว่า coil stamp แสตมป์พิมพ์ให้มีลักษณะเป็นม้วนเหมือนกับเทปกาว เมื่อหยอดเหรียญก็จะส่งแสตมป์ออกมาจากเครื่องตามจำนวนเงินที่ใส่ ให้ผู้ซื้อฉีกออกจากม้วนไปใช้งาน แสตมป์แบบนี้ประเทศไทยยังไม่มี
ปัจจุบันมีแสตมป์แบบที่ตอนพิมพ์ยังไม่ได้ระบุราคาบนดวงแสตมป์ แต่จะใช้เครื่องพิมพ์พิมพ์ราคาทีหลังตามอัตราค่าไปรษณีย์ที่ต้องการฝากส่ง อาจให้บริการจากเคาน์เตอร์บริการหรือเครื่องหยอดเหรียญก็ได้ ของประเทศไทยปัจจุบันเป็นแสตมป์รูปช้างนิยมเรียกว่าเลเบล หรือแสตมป์สติกเกอร์ เนื่องจากมีกาวแบบสติกเกอร์ด้านหลังแสตมป์
เมื่อ พ.ศ. 2541 ไปรษณีย์สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้บริษัท Stamps.com บริการแสตมป์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทและฝากเงินในบัญชี เมื่อต้องการใช้แสตมป์ก็เรียกใช้โปรแกรมซึ่งจะไปตัดบัญชีทางอินเทอร์เน็ตและพิมพ์แสตมป์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ที่ต่อกับคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไปรษณีย์เพื่อซื้อแสตมป์อีก ปัจจุบันมีหลายบริษัท เช่น Endicia และ Pitney Bowes ของสหรัฐอเมริกา STAMPIT ของเยอรมนี ได้ให้บริการรูปแบบเดียวกัน
การสะสมแสตมป์
แก้- ดูบทความหลักที่ การสะสมแสตมป์
การสะสมแสตมป์จัดเป็นงานอดิเรกที่นิยมทั่วโลกอย่างหนึ่ง ผู้สะสมจะพยายามหาแสตมป์ให้ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งอาจจะมาจากซองจดหมาย หรือ ซื้อแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่ไปรษณีย์ การสะสมแสตมป์ไม่ได้จำกัดเฉพาะแสตมป์เท่านั้น หน่วยงานไปรษณีย์ยังจัดทำของที่ระลึกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจำหน่ายเพื่อการสะสมโดยเฉพาะ ตัวอย่างของสะสมที่นิยมได้แก่
- ซองวันแรกจำหน่าย (first day cover)
- แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึก หรือ ชีทที่ระลึก (souvenir sheet หรือ miniature sheet)
- สมุดตราไปรษณียากร หรือ สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (stamp booklet)
- บัตรภาพตราไปรษณียากร (maximum card)
- บัตรตราไปรษณียากรที่ระลึก (presentation pack)
ตัวอย่างแสตมป์ที่มีชื่อเสียง
แก้-
เพนนีแบล็ค แสตมป์ดวงแรกของโลกจากสหราชอาณาจักร
-
Inverted Jenny แสตมป์ตลกของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดดวงหนึ่ง จากความผิดพลาดในการพิมพ์ทำให้ภาพเครื่องบินในแสตมป์กลับหัว พบทั้งหมด 1 แผ่น หรือ 100 ดวง[1]
-
Triskilling Yellow แสตมป์ตลกของสวีเดนที่พบเพียงดวงเดียวในโลก หนึ่งในแสตมป์ที่แพงที่สุด ถูกประมูลเมื่อ พ.ศ. 2539 ที่ราคา 2.5 ล้านฟรังค์สวิส แสตมป์ราคา 3 สคิลลิงปกติมีสีเขียวอมน้ำเงิน แต่ดวงนี้มีสีเหลืองเหมือนราคา 8 สคิลลิง[2]
-
แสตมป์ราคาหนึ่งเซ็นต์ของบริติชกิอานา (ปัจจุบันคือประเทศกายอานา) แสตมป์อีกดวงที่พบเพียงดวงเดียว (แต่ไม่ใช่แสตมป์ตลก) ประมูลครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. 2523 ที่ราคา 935,000 ดอลลาร์สหรัฐ[3][1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Stories about famous stamps เก็บถาวร 2011-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
- ↑ Philately's Greatest Error เก็บถาวร 2003-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
- ↑ THE WORLD'S MOST FAMOUS STAMP เรียกดูเมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
- อาณัฐชัย รัตตกุล, ตำนานไปรษณีย์ไทย พ.ศ. ๒๒๓๑ - ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ทรีดีการพิมพ์, พ.ศ. 2543
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแสตมป์ เก็บถาวร 2007-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน
- เว็บไซต์ผู้ได้รับอนุญาตให้บริการพิมพ์แสตมป์ทางอินเทอร์เน็ต Stamps.com Inc., Endicia, Pitney Bowes Stamp Expressions เก็บถาวร 2007-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, STAMPIT
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ไปรษณีย์ไทย
- สยามแสตมป์
- รักแสตมป์ไทย เก็บถาวร 2011-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แสตมป์ออกร่วมของประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
- Art History on Stamps เก็บถาวร 2007-12-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (แสตมป์ประวัติศิลปะ)